นายนัฐวุฒิ ดิษฐประสพ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เจ้าของผลงาน เผยว่า การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินที่นำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดปัญหาการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช ทั้งยังปลูกได้ทุกสถานที่โดยไม่จำกัดขอบเขต การปลูกพืชด้วยวิธีนี้จึงได้รับการนิยมมากดังเช่นปัจจุบัน ซึ่งผักที่ปลูกจะเป็นผักปลอดสารพิษและสิ่งปนเปื้อนจากดิน แต่การปลูกนั้น ผู้ปลูกต้องมีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นและความเอาใจใส่เป็นอย่างดี เพื่อให้ผักได้รับความเข้มแสงคงที่ น้ำและสารละลายธาตุอาหารพืชต่อเนื่อง ถ้าขาดปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผักไม่เจริญเติบโต จึงมีแนวคิดในการสร้างและพัฒนาระบบควบคุมการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ขึ้นมา โดยนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ทำให้การปลูกผักนั้นมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้นและเหมาะสำหรับผู้ปลูกมือใหม่ทุกคน ซึ่งร่วมมือกับ นายอาทิตย์ มณีนพ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมในการออกแบบพัฒนา และมี นายนิสิต ภูครองตา อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เป็นที่ปรึกษา
"การออกแบบระบบควบคุมการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ จะใช้ Light Emitting Diode : LED แบบ Strip สีแดงและสีน้ำเงินในอัตราส่วน 4:2 เป็นแหล่งกำเนิดแสงให้กับผัก เนื่องจากแสงสีทั้งสองสีนี้เมื่อผสมกันจะเป็นสีม่วง ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตได้ จึงนำมาทดแทนแสงจากธรรมชาติ และใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์โดยใช้โปรแกรม Arduino IDEในการออกแบบคิดค้นระบบการปลูก ซึ่งระบบนี้ใช้พื้นที่การปลูก 1 ตารางเมตรซึ่งปลูกได้ทั้งหมด 24 ต้น ผักที่ใช้ปลูกคือ ผักสลัดเรดโอ๊คและกรีนโอ๊ค และให้ระบบควบคุมการปรับค่าพีเอชของสารละลายธาตุอาหารพืช ปรับอุณหภูมิและความชื้นให้มีค่าคงที่ รวมถึงแสดงค่าสถานะผ่านทางหน้าจอมอนิเตอร์" นัฐวุฒิ กล่าว
ผลการทำงานของระบบควบคุมการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ด้วยแสง LED ตามที่กำหนดโดยใช้ความเข้มแสงประมาณ 1,200 – 1,280 lux. ควบคุมค่าพีเอชเท่ากับ 6.5 อุณหภูมิและความชื้นเท่ากับ 27 องศาเซลเซียส และ 72 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าที่เหมาะสมกับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ทั้ง 2 ชนิด และเจริญเติบโตได้ใกล้เคียงกับผักไฮโดรโปนิกส์ที่ใช้แหล่งกำเนิดแสงจากธรรมชาติ โดยผลจากการวัดขนาดพุ่มผักสลัดเรดโอ๊คได้ 7.26 เซนติเมตร และ 6.86 เซนติเมตรสำหรับกรีนโอ๊ค ขนาดความสูงของลำต้นวัดได้ 2.45 เซนติเมตร และ 2.26 เซนติเมตรตามลำดับในระยะเวลา 4 วัน มีความใกล้เคียงกับสวนผักไฮโดรโปนิกส์ สวนสรสิทธิ์ ใน อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี
ระบบควบคุมการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์อัตโนมัติตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองที่อาศัยในพื้นที่ปิดและจำกัด เช่น คอนโดมิเนียมหรือทาวน์โฮมที่แสงจากธรรมชาติอาจเข้าไม่ถึงหรือเข้าในปริมาณน้อย ทั้งยังตอบโจทย์มือใหม่หัดปลูกที่รักสุขภาพ เมื่อตั้งค่าตามที่กำหนดและปลูก จะใช้เวลาเพียง 40 - 45 วันเท่านั้นก็สามารถเก็บทานได้ทันที โดยที่ระหว่างนั้นไม่ต้องดูแลอะไรมากมาย นับเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ผสมผสานความรู้ระหว่างวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และความเป็นเกษตร เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่เบอร์ 091 415 7838
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit