นายสุพัฒน์ อานามนารถ รองประธานกรรมการดำเนินการ คนที่ 2 ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด (ช.ส.ค.) พร้อมด้วยคณะกรรมการดำเนินการ และฝ่ายจัดการระดับบริหาร นายดาบชัย ใจสู้ศึก ผู้จัดการใหญ่ นอกจากนี้ยังมี นายมงคลัตถ์ พุกะนัดด์ ประธานกรรมการดำเนินการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และคณะ ร่วมนำรายชื่อสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทั่วประเทศ กว่า 15,000 รายชื่อ ยื่นต่อ พลเรือเอก ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านสหกรณ์และด้านอื่นๆ ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอพิจารณาทบทวน ร่าง พ.ร.บ. สหกรณ์ มาตรา ๘/๑ เพื่อส่งต่อเจตจำนงนี้ต่อไปยัง ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการพิจารณาทบทวน ร่าง พ.ร.บ. สหกรณ์ มาตรา 8/1
ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ. สหกรณ์ มาตรา 8/1 ที่ว่า "....เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองประชาชน สหกรณ์ใดจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หรือดำเนินการในการรับฝากเงิน หรือ ให้กู้ยืมเงิน และมีสมาชิกที่มิได้อยู่ในหน่วยงาน หรือองค์กรเดียวกัน หรือมิได้ประกอบอาชีพเดียวกัน ให้ถือว่าสหกรณ์นั้นประกอบธุรกิจเงินทุน แต่ไม่ต้องขออนุญาต หรือ รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน แต่ในการดำเนินการสหกรณ์ดังกล่าว ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่เสนอแนะให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่ง และมีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแลให้สหกรณ์ปฏิบัติการให้ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ในกรณีที่พบว่า สหกรณ์ใด ดำเนินการไม่ถูกต้อง ให้มีอำนาจสั่งให้สหกรณ์แก้ไข หรือระงับการดำเนินการนั้นได้ และในกรณีที่เห็นว่าการกระทำนั้น อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ให้แจ้งนายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์นั้น พ้นจากตำแหน่ง หรือสั่งเลิกสหกรณ์ แล้วแต่กรณี ต่อไปด้วย ในกรณีเช่นนั้น ให้นายทะเบียนสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์พ้นจากตำแหน่ง หรือสั่งเลิกสหกรณ์โดยเร็ว…"
นายสุพัฒน์ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้เอง ร่าง พ.ร.บ. สหกรณ์ มาตรา 8/1 ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมกับสหกรณ์ประเภทเครดิตยูเนี่ยน เป็นการรอนสิทธิ์ในการดำเนินงานโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2553 เป็นการคุมกำเนิดและบอนไซในการพัฒนาขบวนการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโดยแท้ การนี้คณะกรรมการและผู้บริหาร ของ ช.ส.ค. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนและราษฎรไทยโดยสมบูรณ์ จึงเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและทบทวนใน ร่าง พ.ร.บ. สหกรณ์ มาตรา 8/1 นี้ ให้สอดคล้อง เหมาะสม และเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อไป