TIJ จัดการประชุมเวทีสาธารณะ ว่าด้วยหลักนิติธรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืน: ศึกษาแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

18 Jul 2017
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice: TIJ) จัดประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3 ชูแนวคิด "หลักนิติธรรมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยศึกษาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9" ผ่านมุมมองของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ และมีการนำเสนอกรณีศึกษา 3 ประเด็น ได้แก่ เรื่องคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนด้วยหลักนิติธรรม: กรณีศึกษาจังหวัดน่าน เรื่องการพัฒนาระบบหนี้ที่เป็นธรรมในสังคมนิติธรรม และเรื่องทางเลือกสำหรับเทคโนโลยีก้าวกระโดดด้วยหลักนิติธรรมและ Regulatory Sandbox โดยผู้แทนจากกลุ่มผู้บริหารรุ่นแรกในหลักสูตร "หลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนาสำหรับผู้บริหาร โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย" (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development: RoLD) การประชุมเวทีสาธารณะในครั้งนี้ มุ่งสะท้อนความสำคัญในการใช้กฎหมายเพื่อเอื้ออำนวยความยุติธรรม สร้างความเสมอภาคในสังคม และให้เกิดความตระหนักว่ากฎหมายไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมายแต่ฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องให้ความสนใจและมีส่วนร่วมให้เสียงสะท้อน เพื่อให้สังคมไทยพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ
TIJ จัดการประชุมเวทีสาธารณะ ว่าด้วยหลักนิติธรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืน: ศึกษาแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

จากพระปฐมบรมราชโองการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้ในวันขึ้นครองราชย์ ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" และพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิตในปี 2524 ที่ว่า "กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง สำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยาตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย" นับเป็นแนวคิดที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพ และความเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้งในเรื่องหลักนิติธรรม ตั้งแต่เรื่องนี้ยังไม่ได้รับความสนใจในวงกว้าง อีกทั้งการปฏิบัติพระราชกรณียกิจตลอดกว่า 70 ปีแห่งการครองราชย์ ได้สะท้อนให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงนำเอาแนวคิดข้างต้นมาทรงปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมเป็นที่ประจักษ์ต่อปวงชนชาวไทยทุกคน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของ TIJ ในฐานะหน่วยงานไทยแห่งแรกของอาเซียน ที่ได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติร่วมเป็นสมาชิกของ สถาบันในเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ UN-PNI คือ การส่งเสริมหลักนิติธรรมและการเข้าถึงความยุติธรรมโดยเท่าเทียมเพื่อความสงบสุขของสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ 16 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals: SDGs ด้วยตระหนักว่า สันติภาพ ความยุติธรรม และการปกครองที่มีประสิทธิภาพและตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน นับเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนาด้านอื่นๆ ด้วยเช่นเดียวกัน TIJ จึงให้ความสำคัญกับกิจกรรมการสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้าง และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเห็นว่าหลักนิติธรรมเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกสาขา"

ส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ด้านหลักนิติธรรมแนวใหม่ คือ การจัดเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างเช่นเวทีในวันนี้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร "หลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนาสำหรับผู้บริหาร โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย" Rule of Law and หรือ RoLD Program ของ TIJ ที่ทำความร่วมมือครั้งแรก กับ Institute of Global Law and Policy แห่ง Harvard Law School เพื่อจัดเป็นกิจกรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องสำหรับสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายบุคลากรไทยและนานาชาติ ให้สามารถนำหลักนิติธรรมไปปฏิบัติใช้จริง เพื่อยุติความไม่เป็นธรรมที่ปรากฏในสังคม

การประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และส่งเสริมความตระหนักถึงความเชื่อมโยงของหลักนิติธรรมและการพัฒนา โดยเน้นการมีส่วนร่วมของบุคคลจากทุกภาคส่วนและหลายสาขาวิชาชีพ เพื่ออาศัยมุมมองแบบสหวิทยาการในการทำความเข้าใจและขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันต่อไปในอนาคต

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กล่าวต่อไปว่า "ในการประชุมเวทีสาธารณะครั้งนี้ TIJ มีความประสงค์ที่จะถอดบทเรียนด้านการใช้หลักนิติธรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยศึกษาจากแนวทางการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในโครงการพระราชดำริต่างๆที่ได้รับการยกย่องในระดับสากลว่าเป็นศาสตร์แห่งการพัฒนา โดยในการดำเนินโครงการพระราชดำริต่างๆเหล่านั้นย่อมต้องมีหลายๆโครงการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ และการบังคับใช้ ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาโครงการ แต่ด้วยทรงใช้หลักนิติธรรมเป็นเครื่องมือในการตีความกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่การพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ทำให้โครงการประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบที่สามารถเรียนรู้ถอดบทเรียนได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่สังคมซับซ้อนและมีความเปลี่ยนแปลงสูงในหลายสถานการณ์กระบวนการที่มีอยู่และกฎหมายไม่สามารถเอื้ออำนวยความยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ ในบางเรื่องอาจก้าวไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลง และบางครั้งกลายเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเสมอภาคหรือการพัฒนา อีกทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับ การบังคับใช้ ความท้าทายจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถพัฒนากฎหมาย ให้มีความทันสมัย และการนำกฎหมายมาบังคับใช้อย่างเหมาะสมตามหลักนิติธรรม ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและการสร้างสังคมแห่งความเป็นธรรม

ในการจัดประชุมเวทีสาธารณะ ว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน: ศึกษาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานและองค์กรชั้นนำ มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ประกอบด้วย Mr. Martin Hart-Hansen, Deputy Resident Representative โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) in Thailand Dr. Sandro Calvani, Senior Advisor on Strategic Planning มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายก รัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ดร. พณชิต กิตติปัญญงาม ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมสำนักงาน รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

ส่วนผู้แทนจากกลุ่มผู้บริหารรุ่นแรกในหลักสูตร "หลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนาสำหรับผู้บริหาร โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย" (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development: RoLD) ได้นำผลจากการศึกษาเจาะลึก การลงพื้นที่ดูงาน และผลการเสวนากับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ กรณีการทับซ้อนของป่าไม้และที่ดินทำกิน หนี้ที่เป็นธรรมทำได้หรือไม่ และกฎหมายและการบริหารจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด พร้อมข้อเสนอแนะ มาร่วมแลกเปลี่ยนและเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนการยุติธรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนด้วยหลักนิติธรรม: กรณีศึกษาจังหวัดน่าน

ปัญหาป่าน่านเชื่อมโยงอย่างซับซ้อนกับความยากจนของประชาชนในพื้นที่ อันเกิดจากการความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ทำให้ชาวบ้านขาดศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง โดนเอาเปรียบจากกลุ่มผลประโยชน์ขนาดใหญ่ และการที่กฎหมายไม่รองรับสิทธิในที่ดินทำกิน จนนำไปสู่วงจรของการตัดไม้ทำลายป่าอย่างกว้างขวางไปพร้อมๆ กับการเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ในสถานการณ์เช่นนี้ย่อมจะทำให้หน่วยงานของรัฐยิ่งต้องระมัดระวัง และขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชนในพื้นที่ทับซ้อนกับป่าว่าจะสามารถที่จะจัดการทรัพยากรทรัพยากรในพื้นที่ตนเองได้อย่างยั่งยืน ความเชื่อถือไว้ใจกันระหว่างชาวบ้านและรัฐจึงเป็นปมปัญหาอันนำไปสู่การกระทบกระทั่งกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนไม่สามารถนำไปสู่ทางออกได้โดยง่าย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในลักษณะนี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และมีกรณีตัวอย่างความสำเร็จในการแก้ปัญหาที่สำเร็จมาแล้วผ่านการทรงงานและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยทรงใช้หลักนิติธรรมในการใช้กฎหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนมีตัวอย่างที่เป็นที่ประจักษ์ผ่านโครงการหลวง โครงการดอยตุง และโครงการอื่นๆอีกมาก โครงการเหล่านี้มีหลักคิดในการมองให้เห็นรอบด้าน ไม่เพียงมองจากด้านบนลงมาผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆเท่านั้น แต่สร้างระบบนิติธรรมของชาวบ้านในพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมที่เกิดจากการตกลงอยู่ร่วมกัน กำกับดูแลกัน ร่วมจัดการกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ จนกลายเป็นวัฒนธรรมของชุมชนที่เคารพหน้าที่ของแต่ละฝ่ายจนเกิดกลไกยุติธรรมระดับชุมชนเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน แนวทางนี้ยังเป็นแนวปฏิบัติที่ชุมชนในพื้นที่อื่นๆ เช่น ที่บ้านห้วยปลาหลด จ. ตาก ยึดถือปฏิบัติจนสามารถแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนได้อย่างชัดเจนอีกด้วย

ข้อเสนอการแก้ปัญหา: กรอบแนวปฏิบัติแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อคนอยู่กับป่ายั่งยืนตามแนวศาสตร์พระราชา โดยมี 4 ขั้นตอนหลักดังนี้ เตรียมความพร้อมของชุมชน โดยเรียนรู้จากเงื่อนไขความสำเร็จสู่ความสมดุลและยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชาพิจารณาจากหลักการสำคัญต่างๆเพื่อพัฒนาความพร้อมชุมชนในการจัดการตนเองให้เกิดการใช้พื้นที่ป่าอย่างยั่งยืนได้ เช่น หลักการปลูกต้นไม้ในใจคน ว่ามีความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของป่า และการอยู่ร่วมกับป่าอย่างสมดุล ดังพระราชดำรัสที่ว่า "ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง" จากนั้นจึงพัฒนาความพร้อมในด้านต่างๆเช่นการสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการพื้นที่ตามแนวทาง "ระเบิดจากข้างใน" และการใช้หลักการจัดการทรัพยากร "ดิน-น้ำ-ป่า" ตาม "ภูมิสังคม" ของแต่ละพื้นที่ และการใช้หลัก "เศรษฐกิจพอเพียง" มาพัฒนาแนวทางการจัดการเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่นั้นให้มีความพอประมาณ สมเหตุสมผล และมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งล้วนเป็นเงื่อนไขที่สร้างความพร้อมของชุมชนที่จะจัดการรับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมต่างๆได้อย่างยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย กำหนดกรอบแผนการจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม ระหว่างชุมชน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และองค์กรสนับสนุนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาการจัดการร่วมกันในพื้นที่เป้าหมายร่วมพัฒนาแผนร่วมกัน ผสมผสานการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายป่าไม้ บัญญัติและกติกาท้องถิ่น เพื่อการจัดการกำกับดูแลพื้นที่ร่วมกัน มีการกำหนดพื้นที่ ขอบเขต พิกัด ร่วมกันโดยใช้เทคโนโลยี การพิสูจน์สิทธิอย่างเป็นระบบและโปร่งใส และกำหนดผู้มีส่วนได้เสียอย่างชัดเจน ทั้งในส่วนชุมชน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และองค์กรหรือเครือข่ายสนับสนุนต่างๆ ตลอดจนแผนการใช้พื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืนตามหลักการศาสตร์พระราชาในข้างต้น ดำเนินการตามแผนการ ติดตามและประเมินความก้าวหน้า มีกลไกการกำกับดูแลร่วมกัน ซึ่งอาจทำผ่านช่องทางกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น มาตรา 19 ของ พ.ร.บ.ป่าไม้ ให้เป็นโครงการร่วมกันระหว่างชุมชนและป่าไม้พื้นที่เป็นต้นจัดการความรู้และสรุปบทเรียนเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการขยายผลการแก้ปัญหาให้ต่อเนื่องไปได้ ซึ่งควรมีการสรุปบทเรียนเชิงวิชาการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กลายเป็นหลักปฏิบัติที่มีกรณีศึกษาต่างๆไปเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในพื้นที่อื่นได้อย่างแท้จริง

ซึ่งข้อเสนอแนวปฏิบัติดังกล่าวนี้ จึงเป็นมิติใหม่ที่จะให้ผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้นำกฎหมายมาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา แต่เปลี่ยนรูปแบบการมองปัญหา มาสร้างเสริมให้ผู้ที่เคยบุกรุกและเป็นเหยื่อของความอยุติธรรม กลับมาเป็นผู้พิทักษ์ป่า รวมทั้งเปิดทางเลือกในการสร้างโอกาสในชีวิต ให้เหมาะสมในบริบทเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ อันย่อมจะสร้างความเชื่อถือไว้ใจและความร่วมมือเป็นภาคีซึ่งกันและกันระหว่างชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ และระบบยุติธรรมทั้งตำรวจ อัยการ และศาล อันเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับข้อเสนอการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันเรื่องการดูแลป่าอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน อีกยังเป็นการถ่ายทอดหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างเป็นระบบในฐานะกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาและพัฒนาความยั่งยืนและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยสืบไปการพัฒนาระบบหนี้ที่เป็นธรรมในสังคมนิติธรรม

ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวและหนี้นอกระบบของคนในสังคม สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมที่ยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวาง การที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยส่วนหนึ่งเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อในระบบได้อย่างยากลำบาก นำไปสู่ทางเลือกที่ทำให้ชีวิตต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้กู้ด้วยการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่โปร่งใส หรือเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ ปัญหาดังกล่าวกระทบไม่แต่ตัวลูกหนี้และครอบครัวเท่านั้น หลายกรณีเป็นปัญหาของทั้งชุมชนหรือบุคลากรทั้งหน่วยงาน ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ นอกจากนั้นปัญหาหนี้ยังสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ทั้งในมิติด้านรายได้ ความรู้ การเข้าถึงโอกาส และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นที่มาของคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะสร้างให้เกิดการแก้ปัญหาหนี้ที่ยั่งยืน มีระบบการเข้าถึงสินเชื่อที่เป็นธรรมและการสร้างวินัยและความรับผิดชอบแก่ลูกหนี้ เสริมหลักการดำรงชีวิตด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อช่วยให้คนในสังคมมีภูมิคุ้มกัน ไม่ตกเป็นเหยื่อหนี้ที่ไม่เป็นธรรมได้โดยง่าย ซึ่งหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหานี้ไปได้ คือ การรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาประเด็นศึกษา

จึงเป็นที่มาของคำถาม ทำอย่างไรจึงจะสร้างให้เกิดการแก้ปัญหาหนี้ที่ยั่งยืน มีระบบการเข้าถึงสินเชื่อที่เป็นธรรมและการสร้างวินัยและความรับผิดชอบแก่ลูกหนี้ รวมทั้งช่วยให้คนในสังคมมีภูมิคุ้มกัน ไม่ตกเป็นเหยื่อหนี้ที่ไม่เป็นธรรมได้โดยง่าย จากการทำการศึกษาเจาะลึกในเรื่องดังกล่าว มีข้อเสนอการแก้ไขปัญหา ดังนี้ ช่วยประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงและต้นทุนต่อผู้ให้สินเชื่อ พร้อมทั้ง ควรสร้างความรู้ที่เท่าทันทั้งด้านการเงินและการคุ้มครองผู้บริโภคที่จะช่วยยกระดับความสมดุลในการก่อพันธะสัญญาร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ลดความเสี่ยงและภาระตามทวงหนี้แก่ผู้ให้สินเชื่อ ด้วยการพัฒนาระบบการให้สินเชื่อที่เป็นธรรมแก่โครงการที่เหมาะสม เพื่อลดปัญหาหนี้นอกระบบและพัฒนาระบบการประเมินผลให้การใช้เงินทุนเกิดประสิทธิภาพมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีกลไกที่เหมาะสมที่สามารถควบคุมและป้องกัน เจ้าหนี้นอกระบบที่ใช้ความรุนแรงและเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายรวมทั้งองค์กรผู้รับผิดชอบทั้งในหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเงินและระบบสินเชื่อและหน่วยงานยุติธรรมให้สามารถปราบปรามผู้กระทำการละเมิดต่อกฎหมายได้อย่างเด็ดขาด และพัฒนาระบบการช่วยเหลืออำนวยความยุติธรรมกับลูกหนี้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และไม่ได้รับความเป็นธรรมในชั้นสัญญา ชั้นก่อนฟ้อง และบังคับคดีอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีรัฐมีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนรู้เท่าทันการใช้เงินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและพัฒนากองทุนการเงินชุมชนด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนดำรงชีวิตด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และฝึกศักยภาพในการจัดการระบบการเงินของครอบครัวและชุมชนเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันไม่ตกเป็นเหยื่อหนี้ที่ไม่เป็นธรรม "หัวใจสำคัญคือ การรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา" ทางเลือกสำหรับเทคโนโลยีก้าวกระโดดโดยใช้หลักนิติธรรม และ Regulatory Sandbox

ท่ามกลางความพยายามที่จะผลักดันประเทศไทยเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ที่มุ่งหวังให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม นำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยการพัฒนาประเทศ ในขณะเดียวกัน ได้เกิดกระแสของการให้บริการในรูปแบบใหม่ต่างๆ อาทิเช่น Fintech, Airbnb, Uber หรือ Grab ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น "เทคโนโลยีก้าวกระโดด" (Disruptive Technology) ที่เกิดขึ้นและได้รับความนิยมอย่างฉับพลันอันเนื่องมาจากความสามารถในตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในวิถีของสังคมปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของสินค้าและบริการรูปแบบใหม่เหล่านี้ ก่อให้เกิดการวิพากษ์ถึงความไม่เท่าทันของกฎหมาย กฎ ระเบียบ รวมทั้งนโยบายของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีก้าวกระโดดดังกล่าว ดังนั้น จึงมีแนวความคิดที่จะเสนอ Regulatory Sandbox ภายใต้หลักเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) เป็นสนามทดลองเพื่อหาทางออกและเป็นตัวเชื่อมช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี (Digital Divide) โดยยึดหลักนิติธรรมในการบริหารจัดการ บริการรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดและมีผลกระทบต่อสังคม เพื่อแสวงหาแนวทางและกฎกติกาที่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีส่วนร่วมคิด ให้การยอมรับและปฏิบัติตาม ลดความขัดแย้งและเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล อันจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจ รวมทั้งสร้างสมดุลด้านผลประโยชน์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในสังคมและประเทศชาติ รวมทั้งปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ นอกจากนี้ หากประสบความสำเร็จ Regulatory sandbox จะสามารถเป็นต้นแบบสำหรับการหาข้อยุติระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในประเด็นอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กล่าวสรุปว่า "จัดการประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน และการหยิบยกประเด็นปัญหาของสังคมขึ้นมาหาแนวทางออกร่วมกัน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ผมมีความยินดีที่ผู้ทรงคุณวุฒิมากมายหลายท่านให้เกียรติมาแบ่งปันมุมมองที่เป็นประโยชน์แก่เราทุกคน และขอขอบคุณกลุ่มผู้บริหารรุ่นแรกในหลักสูตร TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development (RoLD) ที่ได้มานำเสนอความรู้และแนวคิดที่ได้ร่วมกันศึกษาและประยุกต์ใช้หลักนิติธรรมเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาสำคัญๆในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องการบุกรุกป่า หนี้นอกระบบ รวมถึงความท้าทายใหม่ๆจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยี โดยทำการศึกษาผ่านมุมมองของผู้ปฏิบัติงานในหลากหลายสาขา มิได้จำกัดอยู่เฉพาะมุมมองทางด้านกฎหมาย"

"ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาจัดการประชุมเวทีสาธารณะในวันนี้ จะก่อให้เกิดความตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรมและการพัฒนามากขึ้น อันจะนำไปสู่การตอบรับจากประชาชนและส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ในการผสานหลักนิติธรรมเข้าไปเป็นในทุกบริบทของการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นพื้นฐานของการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน" ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กล่าวในที่สุด

การจัดการประชุมเวทีสาธารณะ โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice: TIJ) จัดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา TIJ ได้มุ่งเน้นในประเด็นเกี่ยวกับความสำคัญของหลักนิติธรรมต่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 รวมถึงความสำคัญของหลักนิติธรรมต่อการพัฒนาระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาชุมชน ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่เราทุกคนควรตระหนักว่าหลักนิติธรรม ไม่เพียงแต่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในตัวเอง แต่ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เป้าหมายการพัฒนาข้ออื่นๆ บรรลุผลด้วยเช่นกัน