นายวีระ กล่าวว่า วธ. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆจัดงาน "วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม ประจำปี พ.ศ. 2560" วันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อน้อมรำลึกใน พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรมที่ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงร่วมอภิปรายปัญหาการใช้ภาษาไทย ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 และต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ" รวมทั้งเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติด้านภาษาและวรรณกรรม รวมถึงส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) และกรมศิลปากร (ศก.) ได้คัดเลือกบุคคลและองค์กร เพื่อรับเข็ม โล่เชิดชูเกียรติและมอบรางวัล เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ดังนี้ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย 2 คน ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น 15 คน ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น 8 คน และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทยประเภทบุคคล 5 คน และประเภทองค์กร 5 องค์กร ส่วนศิลปิน ผู้ได้รับรางวัลเพชรในเพลง 23 รางวัล
สำหรับ รายชื่อผู้ได้รับรางวัล มีดังนี้ รางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย 2 คน ได้แก่ 1.ศ.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต และ 2.รศ.บุญยงค์ เกศเทศ รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น รวม 15 คน ประกอบด้วย นักวิชาการ นักเขียน ศิลปินและพิธีกร 11 คน และชาวต่างชาติ 4 คน ได้แก่ 1.นายกันต์ กันตถาวร 2.รศ.จิตต์นิภา ภักดีชุมพล ศรีไสย์ 3.นายชมพร เพชรอนันต์กุล 4.นายนิพล รัตนพันธ์ 5.ผศ.บัวผัน สุพรรณยศ 6.น.ส.ประวีณมัย บ่ายคล้อย 7.นางปราศรัย รัชไชยบุญ 8.นางมัณฑนา อยู่ยั่งยืน 9.นางมุทิตา อิทธิผล 10.น.ส.ละเอียด สดคมขำ 11.น.ส.อริสรา กำธรเจริญ 12.นายชิเงกิ โคบายาชิ 13.นายปีเตอร์ มิเชนเนอร์ 14.นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ และ 15.นางวีเบคเก้ ลีแซนด์ แลร์วอก
รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น 8 คน ได้แก่ 1.นายคฑาวุธ ทองไทย 2.นายเฉลิมพล มาลาคำ 3.นายธราธิป ส่งเสริม 4.น.ส.ลำดวน สุวรรณภูคำ 5.น.ส.ลำใย พานิชย์ 6.นายวิเชียร เกื้อมา 7.พระครูวิบูลกิตติรักษ์ (สายัณห์ ปาลี) และ 8.พระนคร ปัญญาวชิโร (ปรังฤทธิ์) รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประเภทบุคคล 5 คน ได้แก่ 1.นายดิเรก อินจันทร์ 2.นายตอฮีรน หะยีเลาะแม 3.นางประกอบ ลาภเกษร 4.นายประพัฒน์ แสงวณิช และ 5.นายสมคิด จูมทอง
และประเภทองค์กร 5 องค์กร ได้แก่ 1.กองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือเทพยสุวรรณ 2.มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ 3.มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์ 4.มูลนิธิศาสตราจารย์ หม่อมหลวง จิรายุ–ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ และ 5.สถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่
นอกจากนี้ รางวัลการประกวดเพชรในเพลง 23 รางวัล ได้แก่
1.รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย รางวัลชนะเลิศ เพลงพ่อภูมิพล ผู้ขับร้อง นายยืนยง โอภากุล รางวัลชมเชย 2 รางวัล เพลงสวรรค์ปลายด้ามขวาน ผู้ขับร้อง จ่าสิบเอกเกียรติเมฆ มีมาก (เมฆ อาร์มี่) และเพลงมะลิ ผู้ขับร้อง นายธานินทร์ อินทรแจ้ง (ธานินทร์ อินทรเทพ) ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง รางวัลชนะเลิศ เพลงตราบลมหายใจสุดท้าย ผู้ขับร้อง น.ส.ธนพร แวกประยูร (ปาน ธนพร) รางวัลชมเชย 2 รางวัล เพลงคำถามแห่งชีวิต ผู้ขับร้อง น.ส.ปราชญา ศิริพงษ์สุนทร และเพลงขอเป็นแค่ดาว ผู้ขับร้อง น.ส.ดวงดาว ทินโรจน์ ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย รางวัลชนะเลิศ เพลงทุ่งเหงา ผู้ขับร้องนายจักรพงศ์ หาญภิรมย์ รางวัลชมเชย 2 รางวัล เพลงขายข้าวขอนาง ผู้ขับร้อง นายจักร์รินท์ ศิลา (เต้ย จักร์รินท์) และเพลงฝากเพลงถึงเธอ ผู้ขับร้อง นายเกษม ศรีสมบูรณ์ (เต๋า ภูศิลป์ วารินรักษ์) และ ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง รางวัลชนะเลิศ เพลงรอพี่ที่บ้านนอก ผู้ขับร้อง น.ส.นิภาพร บุญยะเลี้ยง (กระแต อาร์สยาม) และ รางวัลชมเชย 2 รางวัล เพลงลองรัก ผู้ขับร้อง น.ส.สุพรรษา ยิ้มพรรณวงษ์ (ยิ้ม สุทธิดา) และเพลงทำดีตามรอยพ่อ ผู้ขับร้อง น.ส.เสาวลักษณ์ โกสุมพันธ์ (เหมียว คุณาธาร)
2.รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ประเภทประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล รางวัลชนะเลิศ เพลงตราบลมหายใจสุดท้าย ผู้ประพันธ์ พระปกรณ์วินน์ ฐิตวํงโส และรางวัลชมเชย 2 รางวัล เพลงคำถามแห่งชีวิต ผู้ประพันธ์ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี และเพลงสวรรค์ปลายด้ามขวาน ผู้ประพันธ์ จ่าสิบเอก เกียรติเมฆ มีมาก (เมฆ อาร์มี่) ประเภทการประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง รางวัลชนะเลิศ เพลงทุ่งเหงา ผู้ประพันธ์ นายบำเรอ ผ่องอินทรกุล (โน้ต เชิญยิ้ม) และ รางวัลชมเชย 2 รางวัล เพลงเล่าสู่หลานฟัง ผู้ประพันธ์ นายสลา คุณวุฒิ และเพลงดับไฟใต้ ผู้ประพันธ์ นายสมนึก ทองมา (ครูชลธี ธารทอง)
3.รางวัลเชิดชูเกียรติ ดังนี้ รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษผู้มีคุณูปการต่อวงการเพลง นายวิรัช อยู่ถาวร รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษองค์กรที่สนับสนุนการเผยแพร่เพลงไทยที่มีคุณภาพ ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษครูเพลงผู้ประพันธ์เพลงอมตะ นายสุรพล โทณะวณิก และรางวัลเชิดชูเกียรติผู้ประพันธ์เพลงดีเด่นในอดีต 2 รางวัล ได้แก่ เพลงเกิดมาพึ่งกัน นายไสล ไกรเลิศ และเพลงเทพธิดาผ้าซิ่น นายสมนึก ทองมา (ครูชลธี ธารทอง)
นอกจากนี้ เป็นปีแรกที่ วธ.ได้ประสานขอความร่วมมือไปยังสถานทูตกว่า 9 ประเทศประจำประเทศไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ฮังการี ไนจีเรีย มอลตา จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น โดยเชิญชวนเอกอัครราชทูต และผู้แทนสถานทูตแต่ละประเทศถ่ายคลิปวีดีโอรณรงค์การใช้ภาษาไทย เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญเสริมสร้างความสัมพันธ์เกียรติภูมิและภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อนำความเป็นไทยสู่สากล และจะมอบเกียรติบัตรให้แก่สถานทูต ที่ร่วมกิจกรรมด้วย
นอกจากนี้ กิจกรรมภายในงานวันภาษาไทยแห่งชาติ มีการเสวนาเรื่อง "ครบเครื่องเรื่องภาษาไทยและการประยุกต์ใช้ในสังคมสื่อดิจิทัล" ณ หอประชุมใหญ่ฯ มีวิทยากร คือ นายนพพร เพริศแพร้ว น.ส.เขมนิจ จามิกรณ์ และ ดร.เพชรยุพา บุรณ์สิริจรุงรัฐ ผู้ดำเนินการเสวนา ขณะเดียวกัน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดเสวนาวิชาการ "บันทึกไว้ในงานจิตรกรรม" วันที่ 29–30 กรกฎาคมนี้ ณ หอประชุมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และจัดนิทรรศการเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ อีกทั้งมีการแสดงการขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ โดยเครือข่ายผู้รักภาษาไทย การแสดงการสวดโอ้เอ้วิหารราย การแสดงภาษาพาโชว์ โดยนายนพพร เพริศแพร้ว
นอกจากนี้ ศก.จัดพิมพ์หนังสือหายาก เรื่อง บุรุษเรืองนามของหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือวันภาษาไทยแห่งชาติ พ.ศ. 2560 และจัดพิมพ์บันทึกการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกระแสพระราชดำริ เรื่อง "ปัญหาการใช้คำภาษาไทย" เพื่อเป็นที่ระลึกให้แก่ผู้ร่วมงาน
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit