บอร์ดภาพยนตร์รับทราบแนวทางขยายตลาดภาพยนตร์ในจีน-อินเดีย ส่งเสริมบุคลากรเรียนรู้ภาษาจีน ร่วมงานเทศกาล-ตลาดภาพยนตร์นานาชาติในจีน พร้อมจัดเทศกาลภาพยนตร์ไทยในอินเดีย เน้นภาพยนตร์หลากหลาย

31 Jul 2017
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ที่กระทรวงวัฒนธรรม พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ครั้งที่ 5/2560 ว่า ที่ประชุมได้รับรายงานความคืบหน้าหลังจากมอบหมายให้คณะอนุกรรมการบูรณาการแผนงานส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ทั้งในและต่างประเทศ ไปประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทย ในสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐอินเดียร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่และชาวจีนนิยมชมภาพยนตร์ ละคร รายการทีวีของไทย รวมทั้ง ชื่นชอบดาราไทยอย่างมาก รวมถึงอินเดียมีความสนใจและจ้างทีมงานชาวไทยช่วยผลิตภาพยนตร์ โดยผลจากการหารือคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ ได้เสนอแนวทางการขยายตลาดไปสู่จีนและอินเดียให้ที่ประชุมรับทราบ โดยในส่วนของจีนมีข้อสรุปว่า ประเทศไทยมีโอกาสสูงในการขยายตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไปสู่จีน เนื่องจากดาราไทยหลายคนมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในจีน บุคลากรด้านการผลิตภาพยนตร์ได้รับการยอมรับจากจีนและชาวจีนนิยมร่วมงานกับคนไทย ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่า ไทยควรเปิดตลาดภาพยนตร์ไทยในจีนโดยเร็วที่สุด อาจจะเริ่มจากการทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการร่วมกันผลิตภาพยนตร์ที่ใช้งบลงทุนขนาดกลาง และควรฝึกอบรมภาษาจีนอย่างน้อย 6 เดือน ให้แก่บุคลากรด้านภาพยนตร์ของไทย หรือให้มีล่ามภาษาจีน โดยมีหน่วยงานกลางรับผิดชอบจัดหาล่าม รวมทั้งส่งเสริมการเปิดช่องทางภาพยนตร์ไทยในสื่อออนไลน์ของจีนมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ของจีนเข้ามาถ่ายทำในไทยมากขึ้น รวมถึงอาจทดลองใช้วิธีขายสิทธิ์เผยแพร่ภาพยนตร์ไทยในจีน โดยไม่เรียกเก็บค่าสิทธิ์ในช่วงแรก และศึกษาระบบโควต้าภาพยนตร์ของจีน รวมทั้งควรมีทีมประเทศไทยที่บูรณาการความร่วมมือในการวางแผนดำเนินงานรายปี อาทิ ร่วมงานเทศกาลและตลาดภาพยนตร์ในจีนของหน่วยงานต่างๆพร้อมกัน การนำเสนอวัฒนธรรมไทย เช่น อาหาร ศิลปวัฒนธรรมไทย ผลไม้ การท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีการเสนอขอความร่วมมือหอการค้าไทยในจีน ช่วยวิเคราะห์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสังคมวัฒนธรรมจีน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนการดำเนินงาน
บอร์ดภาพยนตร์รับทราบแนวทางขยายตลาดภาพยนตร์ในจีน-อินเดีย ส่งเสริมบุคลากรเรียนรู้ภาษาจีน ร่วมงานเทศกาล-ตลาดภาพยนตร์นานาชาติในจีน พร้อมจัดเทศกาลภาพยนตร์ไทยในอินเดีย เน้นภาพยนตร์หลากหลาย

พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบ แนวทางการส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยที่อินเดีย ซึ่งมีข้อเสนอแนะให้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์ไทย ณ เมืองมุมไบ และควรเน้นภาพยนตร์ไทยที่หลากหลาย เพื่อแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่สามารถผลิตและตอบสนองต่อตลาดและรสนิยมของผู้ชมได้หลายรูปแบบ อาทิ หนังบู๊ หนังรัก หนังตลก หนังสยองขวัญ หนังชีวิต และหนังคลาสสิค เป็นต้น รวมถึงควรมีการหารือถึงการจำหน่ายสิทธิ์ภาพยนตร์ในอินเดีย ขณะที่การจัดเทศกาลภาพยนตร์ไทย ณ เมืองปุเณ ควรเน้นภาพยนตร์อิสระที่ได้รับรางวัล อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้มอบหมายให้วธ. ไปกำหนดปฏิทินการดำเนินการร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ในอินเดียให้ชัดเจนอีกด้วย

พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการหารือถึงแนวทางและแผนบูรณาการส่งเสริมและเผยแพร่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศ ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) หลังจากที่ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบูรณาการแผนงานส่งเสริมฯ ไปประชุมหารือในเรื่องนี้ โดยผลหารือมีข้อสรุปว่าจำนวนเทศกาล ตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศที่ไทยส่งเสริมในปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว แต่ควรพิจารณาการดำเนินงานจัดเทศกาลและตลาดภาพยนตร์ให้เข้มข้นขึ้น และแต่ละหน่วยงานควรดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันในรูปแบบของทีมประเทศไทย รวมถึงควรศึกษาข้อมูลรายละเอียดและลักษณะเฉพาะของแต่ละเทศกาลและตลาดภาพยนตร์ เพื่อวางแผนส่งเสริมในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในงานเทศกาลภาพยนตร์และวีดิทัศน์ระดับนานาชาติ โดยที่ประชุมมีมติมอบหมายให้ วธ.ไปศึกษา วิเคราะห์เทศกาลและตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศ รวมถึงพิจารณาหาข้อสรุปงานเทศกาลและตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศที่ประเทศไทยควรเข้าร่วม และกำหนดปฏิทินการดำเนินงาน และวางแผนการบูรณาการการส่งเสริมและเผยแพร่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศภายใต้ทีมไทยแลนด์ โดยให้กำหนดหน่วยงานเจ้าภาพ หน่วยงานสนับสนุนในแต่ละกิจกรรมให้ชัดเจน รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สมาคม มูลนิธิ ตลอดจนภาคเอกชนได้รับทราบ เพื่อมีเวลาเตรียมการนำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไปจัดจำหน่าย จัดฉาย หรือเข้าร่วมงานตามแผนการดำเนินงาน และให้นำรายงานให้คณะกรรมการฯทราบในการประชุมครั้งต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้วธ. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดอบรมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย โดยเชิญผู้กำกับต่างประเทศที่มีชื่อเสียงมาเป็นวิทยากรอบรม

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้รับรายงานจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน2560 มีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย จำนวน 439 เรื่อง สร้างรายได้กว่า 1,637 ล้านบาท นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการศึกษาและพิจารณาแนวทางการแก้ไข้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่และการจัดจำหน่ายคอนเทนต์บันเทิงไทยผ่านระบบอินเตอร์เน็ทและออนไลน์ และการบูรณาการร่วมโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาตามที่คณะกรรมการภาพยนตร์ฯ มอบหมายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการ โดยมีข้อเสนอควรมีการร่วมบูรณาการการดำเนินงานที่เรียกว่า การจัดทำ Platform Over The Top ในรูปแบบการใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นรูปแบบการเก็บข้อมูล Digital Transaction ของแต่ละคนสามารถแชร์ไปยังทุกๆคนได้เสมือนห่วงโซ่ ทำให้ Block ของข้อมูลลิงค์ต่อๆกันไป โดยทราบว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิ์ในข้อมูล อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมควรมีการจัดทำช่องทางการนำเสนอ Content ใหม่ๆ เช่น Thai tube และควรแก้ไขรายการจ่ายเงินของPrompt pay (API) ของไทยด้วย

บอร์ดภาพยนตร์รับทราบแนวทางขยายตลาดภาพยนตร์ในจีน-อินเดีย ส่งเสริมบุคลากรเรียนรู้ภาษาจีน ร่วมงานเทศกาล-ตลาดภาพยนตร์นานาชาติในจีน พร้อมจัดเทศกาลภาพยนตร์ไทยในอินเดีย เน้นภาพยนตร์หลากหลาย บอร์ดภาพยนตร์รับทราบแนวทางขยายตลาดภาพยนตร์ในจีน-อินเดีย ส่งเสริมบุคลากรเรียนรู้ภาษาจีน ร่วมงานเทศกาล-ตลาดภาพยนตร์นานาชาติในจีน พร้อมจัดเทศกาลภาพยนตร์ไทยในอินเดีย เน้นภาพยนตร์หลากหลาย บอร์ดภาพยนตร์รับทราบแนวทางขยายตลาดภาพยนตร์ในจีน-อินเดีย ส่งเสริมบุคลากรเรียนรู้ภาษาจีน ร่วมงานเทศกาล-ตลาดภาพยนตร์นานาชาติในจีน พร้อมจัดเทศกาลภาพยนตร์ไทยในอินเดีย เน้นภาพยนตร์หลากหลาย