นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ว่า "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 26.6 และ 0.9 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 29.6 และ 22.7 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 29.0 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 38.0 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.5 และ 23.1 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตยางพารา และกุ้ง เป็นสำคัญ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ใน ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 3.1 และ 10.9 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน โดยในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 และ 10.6 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยวเป็นหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 6.8 และ 2.4 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 13.2 และ 10.7 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวในอัตราเร่งเช่นกันที่ ร้อยละ 9.0 และ 17.0 ต่อปี ตามลำดับ ตามการปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกจังหวัด สำหรับด้านอุปทานขยายตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน โดยในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่2 ปี 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 และ 5.5 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 14.2 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 18.3 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรม ในเดือนมิถุนายน ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 66.4 ตามการลงทุนในจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ จังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี และอุดรธานี เป็นต้น ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 35.6 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 15.7 และ 1.0 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 17.9 และ 11.2 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 14.6 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี ส่วนด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน โดยในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 และ 7.1 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน (เบื้องต้น) 2560 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายนที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 และ 98.8 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 7.8 และ 108.2 ต่อปี ตามลำดับ ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 และ 20.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 15.9 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 0.4 ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี เช่นเดียวกันกับเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายน 2560 มีเงินลงทุน 3,977 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 133.5 ต่อปี ตามการลงทุนในเกือบทุกจังหวัด ส่วนด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน โดยในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.2 และ 7.8 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน (เบื้องต้น) 2560 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit