รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย มีพันธกิจสำคัญในการดูแลและให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งที่ถูกต้อง จึงได้ริเริ่มจัดงานวิ่งการกุศล "G Run ยั่งยืน" ครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความตระหนักให้แก่สังคมไทยเกี่ยวกับโรคมะเร็งหายากชนิดหนึ่งที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก คือ "โรคมะเร็งจิสต์ (GIST)" มะเร็งชนิดหนึ่งภายในระบบทางเดินอาหาร ที่สามารถพบผู้ป่วยได้เพียง 10-15 รายต่อประชากรโลกหนึ่งล้านคนเท่านั้น พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการเฝ้าระวังตัวเอง แนวทางการรักษาและโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งจิสต์ที่มีในปัจจุบันด้วย
"ภายในงานวิ่งการกุศล "G Run ยั่งยืน" ได้แบ่งระยะการวิ่งออกเป็น 2 ประเภท คือระยะ Fun Run 2.5 กิโลเมตร และระยะ Mini-Marathon 10 กิโลเมตร มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,462 คน โดยสามารถระดมทุนโดยที่ไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ จำนวนกว่า 701,500 บาท เพื่อมอบให้โรงพยาบาลรัฐบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งจิสต์ในโครงการจีแพปมากที่สุด 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ "Right Choice for One Chance" เกี่ยวกับการเข้าถึงการรักษาและการอยู่กับโรคมะเร็งจิสต์ รวมถึงบูทกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งจิสต์ พร้อมเล่นเกมส์และลุ้นรางวัล"
ด้าน ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า โรคมะเร็งจิสต์ (GIST) เป็นมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนชนิดหนึ่งที่เกิดบริเวณระบบทางเดินอาหาร ที่แตกต่างจากมะเร็งระบบทางเดินอาหารชนิดอื่นๆ เนื่องจากเกิดจากเซลล์ที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ โดยตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด คือกระเพาะอาหาร มะเร็งจิสต์ถือได้ว่าเป็นมะเร็งที่พบได้น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับมะเร็งของระบบทางเดินอาหารชนิดอื่น โดยผู้ป่วยมักมีอาการที่ความคล้ายคลึงกับมะเร็งทางเดินอาหารชนิดอื่นๆ เช่น อาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ซีด บางรายอาจคลำพบก้อนในท้อง เลือดออกในกระเพาะอาหารจนปนออกมากับอุจจาระทำ
ให้อุจจาระมีสีดำ ทั้งนี้อาการของมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจิสต์จะไม่มีข้อเจาะจง แต่ถ้าหากมีอาการที่ดังที่กล่าวข้างต้นในแบบเรื้อรัง และเมื่อรับการรักษาโรคทั่วไปแล้วไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง
สำหรับการรักษา ผศ.นพ. เอกภพ สิระชัยนันท์ อุปนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในระยะเริ่มแรกของโรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจิสต์ จะมีลักษณะเป็นก้อนอยู่บริเวณเดียว ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดและมีโอกาสที่จะหายขาด แต่อย่างไรก็ตามหลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยมักมีความเสี่ยงต่อการกำเริบของโรคมะเร็งจิสต์ได้เช่นกัน และหากตัวโรคได้แพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นแล้ว ก็จะมีโอกาสน้อยในการรักษาให้หายขาด โดยเฉพาะบริเวณตับ ที่เดิมแพทย์จะใช้วิธีการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด แต่เนื่องจากมะเร็งจิสต์เป็นโรคที่ตอบสนองต่อเคมีบำบัดน้อยมาก ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาการรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งจิสต์มีทางเลือกในการรักษามากขึ้น โดยการรักษารูปแบบมุ่งเป้า ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงสามารถควบคุมโรคได้ดียิ่งขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งจิสต์มีอาการที่ดียิ่งขึ้น สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติและมีอายุยืนยาวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
"เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งจิสต์สามารถเข้าถึงการรักษาได้มากยิ่งขึ้น จึงเกิดโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติจีแพป (GIPAP) ที่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน กับ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการจัดหายาที่มีคุณภาพ โดยมีทางสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และมูลนิธิ เป็นผู้ลงทะเบียนและจัดสรรยาให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลากว่า 15 ปี จนสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งจิสต์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้มากกว่า 1,800 ราย โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยที่กำลังเข้าการรักษาอยู่ในโครงการฯ ประมาณ 800 ราย"
ทั้งนี้ ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ ได้ให้คำแนะนำในการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคมะเร็งจิสต์ว่า การเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่ร่างกายนับเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยมีกำลังกายและกำลังใจในการต่อสู้กับอาการต่างๆ ซึ่งสามารถเริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวผู้ป่วยเอง อาทิ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ การทำจิตใจให้ผ่องใส ลดความเครียดและความกังวล เป็นต้น
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit