นอกจากนี้ ยังสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า ผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านภาษาไทยที่นึกถึงมากที่สุด ร้อยละ 83.45 ตอบว่า สุนทรภู่ ร้อยละ 41.16 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร้อยละ 39.38 ครูลิลลี่ (นายกิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์) ร้อยละ 38.43 เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และร้อยละ 37.60 ครูทอม คำไทย "สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่" ทั้งนี้ ได้สอบถามถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันและเรื่องเร่งด่วนที่ควรแก้ไขปัญหา ร้อยละ 39.02 เห็นว่า การพูด เพราะเป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย ดังนั้นการพูดที่ถูกต้องจะเป็นแบบอย่างที่ดี ร้อยละ 37.17 บอกว่าการเขียน เนื่องจากปัจจุบันใช้คอมพิวเตอร์แทนการเขียนหนังสือมากขึ้น จึงอยากให้คนไทยได้เขียนหนังสือที่ถูกต้อง และ ร้อยละ 23.81 การอ่าน เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับเด็ก ทำให้รอบรู้ทันโลกทันเหตุการณ์ เป็นการเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาสติปัญญา
อย่างไรก็ตาม ในสำรวจครั้งนี้ได้สอบถาม เด็ก เยาวชน และประชาชนเกี่ยวกับคำศัพท์ที่วัยรุ่นกำลังนิยมใช้ในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 39.44 ตอบว่า "ลำไย" หมายถึง รำคาญ รองลงมา ร้อยละ 36.86 "ตะมุตะมิ" น่ารักน่าเอ็นดู ร้อยละ 36.23 ระบุว่า "นก" หมายถึง อ่อยเขาแต่เขาไม่เอา ร้อยละ 34.67 คำว่า "จุงเบย" น่ารักแสดงความแอ๊บแบ๊ว ร้อยละ 34 บอกว่า "เท/โดนเท" หมายถึง โดนทิ้ง ร้อยละ 33.61 "อิอิ" คือ เสียงหัวเราะ ร้อยละ 30.12 "เปย์/ สายเปย์"หมายถึง ชอบจ่ายให้ ร้อยละ 27.28 "เตง/ตะเอง /ตัลเอง" คือ ตัวเอง และร้อยละ 26.06 บอกว่า "มุ้งมิ้ง" น่ารัก
นายวีระ กล่าวต่อว่า ได้สำรวจความคิดเห็น เรื่องยุทธศาสตร์ในแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชาชนรับทราบมากที่สุด ร้อยละ 53.86 ทราบว่ามียุทธศาสตร์การปลูกสร้างพฤติกรรมรักการอ่านที่เข้มแข็งให้กับคนทุกช่วงวัย รองลงมาร้อยละ 45.65 ยกระดับคุณภาพแหล่งเรียนรู้และสื่อการอ่านเพื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีความทันสมัย และ ร้อยละ 42.35 ระบุว่า การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชนทั้งในชุมชนเมืองและภูมิภาค และร้อยละ 38.14 สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
นอกจากนี้ ยังได้สอบถามเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านฯ พบว่า ร้อยละ 55.16 เชื่อว่าเป้าหมายของแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทยจะช่วยทำให้คนไทยใช้เวลาในการอ่านเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 90 นาที ต่อวัน เป็นจริงได้ เนื่องจากเป็นการกระตุ้น รณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการอ่านมากขึ้น เชื่อมั่นในแผนแม่บทฯ ว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ โดยหน่วยงาน สถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนต้องร่วมมือกัน รองลงมา ร้อยละ 29.79 ไม่สามารถเป็นจริงได้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่านหนังสือ สมาธิสั้นสนใจเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะปัจจุบันชอบเล่นเกม เล่นโทรศัพท์มือถือเป็นจำนวนมาก และ ร้อยละ 19.05 ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ ได้สำรวจความคิดเห็นของเด็ก เยาวชนและ ประชาชนเรื่องเวลาในการอ่านหนังสือผ่านสื่อต่างๆ ในแต่ละวัน พบว่า ร้อยละ 56.59 สื่อออนไลน์ โดยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวัน รองลงมา ร้อยละ 37.42 หนังสือ/เอกสาร ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1.30 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 36.90 อ่านหนังสือพิมพ์ ใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 20.47วีดีโอ/ซีดี/ดีวีดี ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน และร้อยละ 18.63 อ่านวารสารทั่วไปใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจครั้งนี้มีประชาชน เด็กและเยาวชนมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงวัฒนธรรม และทุกภาคส่วน ถึงแนวทางกระตุ้นและส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ดังนี้ อันดับ 1 จัดกิจกรรมรณรงค์การสร้างจิตสำนึกในการรักการอ่าน เช่น ส่งเสริมการอ่าน รณรงค์ให้มีการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น จัดกิจกรรมการเรียนรู้การใช้ภาษาไทยในโรงเรียน จัดโครงการเสริมสร้างภาษาไทยและจัดตั้งชมรมการใช้ภาษาไทย อันดับ 2 ประกวดการใช้ภาษาไทย/ทดสอบการใช้ภาษาไทยดีเด่น เช่น การเขียนเรียงความคัดไทย แต่งกลอน เกมการแข่งขันเกี่ยวกับภาษาไทยทุกปี มีรางวัลเป็นสิ่งดึงดูดใจ อันดับ 3 รณรงค์โดยการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งทำให้คนไทยเข้าถึงได้ง่าย/มีแอพพลิเคชั่น พจนานุกรมให้ดาวน์โหลด นำมาใช้โดยมีการเขียนที่ถูกต้อง/การทำเว็บไซต์ต่างๆและเกมที่เกี่ยวกับภาษาไทย อันดับ 4 อบรมการใช้ภาษาไทย การเขียน อ่าน พูด ภาษาไทยให้ถูกต้อง อันดับ 5 จัดให้มีวิชาการอ่านในหลักสูตร /เพิ่มเวลาการอ่านหนังสือในคาบเวลาเรียน เพื่อทำให้เด็กอ่านและเขียนภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ วธ.ก็จะนำผลการสำรวจในเรื่องดังกล่าวมาใช้ประกอบการทำงานและร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือร่วมกับทุกกระทรวงและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านฯ ต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit