นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่นฯ อีเลฟเว่น กล่าวว่า โครงการ "บันไดกวี" เป็นการต่อยอดจากโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เพื่อส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน ในปีนี้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 โดยค่าย "บันไดกวี"จะมุ่งเน้นการเรียนรู้และความเข้าใจรูปแบบฉันทลักษณ์ของกวีนิพนธ์ไทย ด้านโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้เยาวชนสามารถถ่ายทอดสุนทรียรส ลีลาการเขียนในรูปแบบบทกวีได้อย่างไพเราะ ทั้งนี้มีเยาวชนจากทั่วประเทศได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมอบรมรวมทั้งสิ้น 33 คน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ อาทิ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ , สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์,ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ , รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ (ไพฑูรย์ ธัญญา) ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์และนักเขียนรางวัลซีไรต์ , ศักดิ์สิริ มีสมสืบ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และกวีซีไรต์ จากกวีนิพนธ์ชุด มือนั้นสีขาว, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ กวีซีไรต์ จากกวีนิพนธ์ชุด แม่น้ำรำลึก , ผศ.ดร.ญาดา อารัมภีร ร่วมด้วย พินิจ นิลรัตน์ ซึ่งเยาวชนที่มาเข้าค่ายจะได้รับการพัฒนางานเขียนด้านกวีนิพนธ์ในรูปแบบเวิร์คช็อปเข้มข้น นับเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนสามารถพัฒนางานเขียนส่งผลงานเข้าประกวดเวทีต่าง ๆ และสร้างคนรุ่นใหม่สู่แวดวงวรรณกรรม ด้านกวีนิพนธ์มากขึ้น
"นอกจากการพัฒนาเยาวชนแล้ว ซีพี ออลล์ ยังได้คัดเลือกครูอาจารย์จากโรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษา จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 38 คน เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย เพื่อส่งเสริมให้ครูอาจารย์มีความรู้ความเข้าใจและมีเทคนิคพิเศษในการจัดการเรียนการสอนการเขียนฉันทลักษณ์ และสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปขยายผลในสถานศึกษาต่อไป" นายสุวิทย์ กล่าว
ด้านครูกวีศิลปินแห่งชาติ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้กล่าวถึงการริเริ่มโครงการนี้ว่า การส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ ซีพี ออลล์ เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มีศักยภาพในการปูพื้นฐาน ในเรื่องทักษะการอ่าน การเขียน จึงเกิดเป็นค่ายบันไดกวี ที่ศิลปินแห่งชาติจะได้มาถ่ายทอดให้เยาวชนได้เข้าใจความรู้สึก นึกคิด ที่ช่วยรังสรรค์อักขระที่สละสลวยสวยงาม
นอกจากนี้อาจารย์เนาวรัตน์ ยังได้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า งานเขียนที่ดีต้องประกอบไปด้วย 4 ประการ ได้แก่ 1) เรื่องที่เขียน จะต้องไม่เคยมีใครเขียนมาก่อน หรือหากเรื่องนั้นมีคนเคยเขียนมาแล้ว จะต้องเขียนในแง่มุมที่แปลกใหม่ เพื่อให้งานเขียนชิ้นนั้นเด่นขึ้นมา 2) อารมณ์ความรู้สึกต้องเข้าถึงเรื่องที่เขียน หากจะเขียนเกี่ยวกับการอกหัก แต่ไม่เคยอกหัก บทประพันธ์จะไม่มีชีวิตชีวา ไม่รู้สึกปวดร้าวเหมือนคนที่อกหักจริงๆ 3) ความสามารถในการถ่ายทอดคำ ต้องถ่ายทอดความรู้สึกให้ได้มาก หมั่นฝึกค้นหาความหมายของคำศัพท์ 4) อารมณ์ของผู้อ่านต้องเข้าถึงบทประพันธ์ ไม่ใช่ว่าแต่งแล้ว แต่ผู้อ่าน อ่านไม่รู้เรื่อง คนเขียนรู้เรื่องอยู่คนเดียว บทประพันธ์นั้นก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ
ในมุมของกวีน้อยรุ่นเยาว์ ที่ได้มาร่วมเรียนรู้ผ่านฐานฝึกเขียนเชิงปฏิบัติการ 3 วัน 2 คืน น้องฟิว หรือ นายนพดล สุวรรณศรี นักเรียนจากโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร นักกวีน้อยเผยว่า ชื่นชอบในการแต่งกวีนิพนธ์ มาค่ายนี้แล้วได้ประโยชน์ เพราะมีอาจารย์เป็นผู้คอยสนับสนุน ซึ่งภาษาไทยเป็นภาษาที่สละสลวย มีความงดงาม ทำให้เรารู้จักสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบ ๆตัว อยากจะให้เด็กไทยหันมาศึกษาเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และอนุรักษ์ภาษาไทยไว้ให้คนรุ่นหลังศึกษา เชื่อว่าเวลาว่าง ๆ เราก็สามารถแต่งกลอนได้เพื่อพัฒนาทักษะได้
เช่นเดียวกับ น้องกรีน หรือ นางสาว สิรภัทร กลิ่นทิพย์ นักเรียนโรงเรียนเทพลีลา กทม. เล่าว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน กลอน กาพย์เป็นประจำ ซึ่งในอดีตเป็นคนไม่ค่อยอ่านบทกวีของไทย แต่ชอบอ่านบทกวีแปลของญี่ปุ่นมากกว่า จนกระทั่งคุณครูได้แนะนำให้อ่านกวีไทย ทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างบทกวีไทยและบทกวีญี่ปุ่นชัดเจน กวีญี่ปุ่นอาจจะไพเราะ แต่ก็ไม่สละสลวย ไม่ได้ใช้คำที่สวยงามเหมือนกับของไทย การได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ก็เชื่อมั่นว่าจะทำให้เป็นคนเก่งขึ้นในเรื่องของการอ่านและเขียน เช่นเดียวกับทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมเพราะได้รับความรู้และประสบการณ์ดีๆในการพัฒนาตัวเอง เพื่อช่วยจรรโลงภาษาที่สวยงามให้อยู่คู่คนไทยตลอดไป
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit