นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT เปิดเผยถึงการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างว่า SACICT เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมมาโดยตลอด จึงได้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตกรรมไทยประเภทต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดในงานบ้านและสวนแฟร์ 2017 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-30 กรกฎาคม 2560 ณ อาคารแสดงสินค้าไบเทคบางนา SACICT ได้นำสินค้าศิลปาชีพและงานศิลปหัตกรรรมไทยมาจัดแสดง จัดจำหน่าย และสาธิตการผลิต โดยในปีนี้ได้นำสินค้ากลุ่มชุมชนหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และกลุ่มสมาชิกที่เข้าร่วมในโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ SACICT ที่มีแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัย เข้าร่วมงานเพื่อเป็นการทดสอบตลาด แสดงศักยภาพงานหัตถกรรมของคนไทย และสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับองค์กร หน่วยงานต่างๆ และคาดว่าจะสามารถเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานศิลปหัตถกรรมของไทยไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายและกว้างขึ้น
หนึ่งในบรรดาสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยที่นำมาจัดแสดง และได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานในครั้งนี้ก็คือ "ของเล่นพื้นบ้าน" หรือ "ของเล่นโบราณ" ที่คนวัย 35 ปีขึ้นไป น่าจะคุ้นเคยหรือเคยเล่นกันมาบ้างในวัยเด็ก อาทิ ธงสะบัด หน้าไม้ ปืนไม้ กบไม้ ป๋องแป๋ง โหวด เป็นต้น
ทวีทรัพย์ นามขจรโรจน์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 ผู้พลิกฟื้นคืนชีวิตให้กับของเล่นพื้นบ้าน หรือของเล่นโบราณ เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาและต่อยอดงานของเล่นโบราณของเขาว่า เกิดจากความคิดว่าลูกของเขาเองนั้นไม่มีของเล่นในวัยเด็กเหมือนสมัยที่เขายังเป็นเด็ก ประกอบกับมองเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เติบโตมาในช่วงยุคที่มีเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแล้ว หรือในยุคดิจิทัลปัจจุบันนั้น มักจะประสบปัญหาติดเกม สมาธิสั้น ขาดสัมพันธภาพกับสิ่งรอบตัว กลายเป็นเด็กใจร้อน ขาดทักษะในการควบคุมอารมณ์ ซึ่งเขามองว่าสื่อหรือของเล่นสำหรับเด็กนั้น มีส่วนสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ทั้งด้านอารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้กับเด็ก เพราะการประดิษฐ์หรือทำของเล่นโบราณของคนรุ่นเก่าๆ นั้น ต้องอาศัยทั้งกระบวนการคิด การวางแผน และการลงมือทำ ต้องใช้ทั้งจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ สมาธิ ความอดทน และบางครั้งต้องรวมกลุ่มกันเล่นหรือทำ จึงเป็นการฝึกและเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กๆ ไปในตัว
"สมัยนี้เด็กติดเกม เป็นสมาธิสั้นกันเยอะ และไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว หากย้อนไปมองในสมัยก่อนจะเห็นว่าเด็กถูกหล่อหลอมให้มีสายใยร่วมกัน รู้จักการเล่นเป็นกลุ่ม มีของเล่นที่ต้องทำขึ้นเอง เด็กจึงมีภูมิต้านทาน อย่างตอนแรกผมก็เริ่มจากทำว่าวให้ลูกเล่น ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงปิดเทอมหน้าร้อน เรามองว่าลูกไม่มีของเล่นเหมือนเราตอนเด็กๆ ที่มีของเล่นอะไรให้เล่นมากมายไปหมด ก็เลยชวนกันมาทำว่าว ซึ่งการทำว่าวนั้นก็ใช้วัสดุใกล้ตัวมาทำ สำหรับเราที่โตมากับของเล่นเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก แต่สำหรับเด็กๆ รุ่นใหม่มันดูน่าตื่นเต้นและน่าสนใจมาก ยิ่งตอนทำเสร็จแล้วเอาไปเล่น ปรากฏว่ามีเด็กๆ แถวบ้านสนใจมาดูมาเล่นด้วยกันเยอะ จากนั้นผมก็ทำลูกข่างมาให้เด็กเล่น เด็กๆ ก็ชอบกัน คนรอบข้างก็อยากได้ เลยเกิดเป็นไอเดียให้คิดต่อยอดและรวมกลุ่มเพื่อประดิษฐ์ของเล่นโบราณ ของเล่นพื้นบ้าน และถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังได้รู้จักกันมากขึ้น ซึ่งก็ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีคนมาสั่งซื้อไปทำเป็นของที่ระลึกหรือของชำร่วย หรือบ้างก็นำไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ"
ในกระบวนการสร้างสรรค์ของเล่นโบราณซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยนั้น นอกจากจะมีส่วนช่วยสร้างเสริมจินตนาการ และฝึกให้เด็กๆ ได้คิด วางแผน และลงมือประดิษฐ์ของเล่นด้วยตัวเองแล้ว ยังมีส่วนสร้างสายใยร่วมกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ และเด็กกับเด็กอีกด้วย ถือเป็นการสร้างเสริมพัฒนาการทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมให้กับเด็กไปในตัว เพราะนอกจากการลงมือทำของเล่นแล้ว ในกระบวนการเล่นของเล่นหลายชนิดก็ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กได้ด้วย เช่น การเล่นหมากขุม ซึ่งเป็นของเล่นพื้นเมืองของคนในภาคใต้ ที่ผู้เล่นต้องรู้จักการวางแผน เครื่องดนตรีจิ๋วอย่างแคนหรือโหวดของภาคอีสาน ที่ทำให้เด็กๆ ได้ฝึกทั้งประสาทเสียงและจินตนาการ หรือของเล่นง่ายๆ อย่างม้าก้านกล้วยที่ส่งเสริมให้เด็กๆ ก็ต้องใช้จินตนาการในการเล่น หรือต้องเล่นกันเป็นกลุ่ม เป็นต้น
"ของเล่นโบราณเหล่านี้ ในอดีตเรามักจะใช้วัสดุธรรมชาติมาทำ แต่ปัจจุบันเราสามารถดัดแปลงนำวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์ได้ เป็นการสอนเรื่องของสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ ให้กับเด็กๆ ไปในตัว เราสามารถใช้ของเล่นมาเป็นสื่อสอนให้เด็กชอบวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ได้ ซึ่งการเล่นเกมในลักษณะนี้จะช่วยให้เด็กเรียนรู้เรื่องการแพ้-ชนะอย่างมีภูมิคุ้มกัน ไม่ยึดติดกับการเอาชนะ"
ของเล่นโบราณของ ทวีทรัพย์ นามขจรโรจน์ ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานหัตถศิลป์ที่ SACICT ได้ร่วมสืบสานและอนุรักษ์เพื่อให้ของเล่นโบราณมีคุณค่าและดำรงอยู่กับวิถีชีวิตปัจจุบัน (Today Life's Crafts) และอยู่คู่กับคนไทยและสังคมไทยสืบต่อไป