นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 อนุมัติหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนิน"โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน" วงเงิน ประมาณ22,752.50 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและชุมชน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพเน้นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน และเพิ่มรายได้ กำหนดเป้าหมายในพื้นที่ 9,101 ชุมชน ในศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หลัก 882 แห่ง และเครือข่าย 8,219 แห่ง เป้าหมายเกษตรกรชุมชนละ ประมาณ 500 ราย รวม 4,550,500 ราย โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก
สำหรับการดำเนินงานโครงการ จะให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดโครงการพัฒนาผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และบริหารจัดการโครงการด้วยชุมชนเอง ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองอย่างเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับความต้องการและการแก้ไขปัญหาของชุมชน ซึ่ง ได้มีการนำเสนอโครงการ (ณ 16 กรกฎาคม 2560) พบว่า จำนวน 24,713 โครงการ วงเงินประมาณ 20,038 ล้านบาท และผ่านการอนุมัติโครงการเรียบร้อยแล้ว 24,120 โครงการ วงเงินได้รับการอนุมัติรวมประมาณ 19,846 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87 จากวงเงินที่ ครม. อนุมัติ ซึ่งได้มีการเริ่มโอนเงินให้แก่ชุมชนตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ในการนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้เตรียมการประเมินผลโครงการทั้งระดับระดับชุมชนและภาพรวมของประเทศ แบ่งเป็นการประเมินผลระหว่างการดำเนินงาน และเมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินงานโครงการของชุมชนมีแผนลงพื้นที่เก็บข้อมูล 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 28 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2560 เพื่อประเมินการรับรู้ความทั่วถึงของโครงการ และความเหมาะสมของกระบวนการดำเนินงานโครงการ และ ครั้งที่ 2 วันที่ 15 - 25 กันยายน 2560 เพื่อประเมินผลสำเร็จ และผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมไปถึงผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับชุมชนและภาพรวม โดยครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 77 จังหวัดทั่วประเทศ
ซึ่งในการติดตามประเมินผลจะพิจารณาการดำเนินงานโครงการของชุมชน ตามลักษณะกิจกรรมต่างๆ 8 ด้านหลัก และด้านอื่นๆ ประกอบด้วย 1) ด้านการผลิตพืชและพันธุ์พืช 2) ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 3) ด้านการจัดการศัตรูพืช 4) ด้านฟาร์มชุมชน 5) ด้านการผลิตอาหาร การแปรรูปผลผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 6) ด้านปศุสัตว์ 7) ด้านประมง 8) ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน และ 9) ด้านการเกษตรอื่นๆ
นอกจากการลงพื้นที่ติดตามประเมินผลโครงการของ สศก. แล้ว ยังมีการตรวจติดตามโครงการ 9101 จาก คณะกรรมการโครงการฯ ระดับชุมชน คณะกรรมการโครงการฯ ระดับอำเภอ คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้ง คณะผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการ 9101 ได้มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชน การจ้างแรงงานเกษตรกรที่มีรายได้น้อย เกษตรกรและประชาชนในชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการอย่างทั่วถึง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนต่อยอดอาชีพ และเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรในแต่ละชุมชน รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้เกิดการกระแสเงินหมุนเวียนในระดับเศรษฐกิจฐานรากได้