รศ.ดร.พัชรี จิ๋วพัฒนกุล อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาการศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการคัดกรองและค้นหาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ในวันที่ 10 ส.ค. 60 ณ ห้องประชุม ชั้น 3 สถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา ว่า วัตถุประสงค์เพื่อให้บริการคัดกรองค้นหาเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ผ่านกิจกรรมทดสอบพัฒนาการ ทดสอบค้นหาเด็กเสี่ยงแอลดี ทดสอบการพูด เชาว์ปัญญา คัดกรองสายตา ตรวจคัดกรองการได้ยินและให้คำปรึกษาการดูแลเครื่องช่วยฟังแก่ผู้ปกครองเด็กที่ใส่เครื่องช่วยฟัง โดยนักแก้ไขการได้ยินและครูการศึกษาพิเศษ รวมถึงให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการดูแล ช่วยเหลือ และพัฒนาศักยภาพ ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานด้านการศึกษาพิเศษร่วมกัน คาดว่าจะมีเด็กปฐมวัยถึงประถมศึกษาในพื้นที่ภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 100 คน เด็กที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ไม่ใช่แค่เด็กพิเศษอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงคนทั่วไปที่อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งหากทราบถึงความผิดปกติได้แต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถวางแผนช่วยเหลือและพัฒนาเด็กต่อได้อย่างทันท่วงที โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในรายวิชาการประเมินบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ที่มีตนและ น.ส.รักษิณา หยดย้อย หัวหน้าหน่วยบริการนักศึกษาพิการ เป็นผู้สอน
รศ.ดร.พัชรี กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ ได้ดำเนินการคัดกรองและให้ความรู้แก่ผู้ปกครองตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.- 30 ธ.ค. 60 ในแต่ละภูมิภาค ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาแก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ให้ได้รับการพัฒนาและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุข คน โดยในปีที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้จัดทำโครงการ "ตั้งไข่" (We believe you can shine) หรือโครงการคัดกรองเพื่อค้นหาความต้องการพิเศษทางการศึกษาแก่เด็กวัยเรียน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยดำเนินการคัดกรองค้นหาเด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยง จากการดำเนินงานดังกล่าวมีผู้ปกครองพาบุตรหลานมารับบริการเป็นจำนวนมาก และผลจากการคัดกรองพบเด็กที่มีพัฒนาการไม่สมวัย เด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ รวมถึงเด็กบางคนมีแววความสามารถพิเศษ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้ปกครอง ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องในการนำไปใช้วางแผนช่วยเหลือและพัฒนาเด็ก ทางมูลนิธิฯ จึงขยายการบริการไปตามภาคต่างๆ รวมถึงภาคใต้ ซึ่งมีสถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา เป็นศูนย์กลางในการให้บริการ