รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ยกย่องกลุ่มนาแปลงใหญ่ ต.กลาง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เป็นกลุ่มต้นแบบ พร้อมหารือภาคเอกชนพัฒนาการผลิตข้าวในโครงการผลิตข้าวมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (SRPs)

02 Aug 2017
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมกลุ่มนาแปลงใหญ่ตำบลกลาง (แปลง SRP) อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ว่า กลุ่มนาแปลงใหญ่นี้เป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ จนสามารถเป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มแปลงใหญ่อื่น ๆ จึงได้มารับฟังปัญหาและอุปสรรคเพื่อแก้ไขให้สำเร็จยิ่งขึ้น และจะผลักดันในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าวได้ผลิตข้าวคุณภาพ 3 อย่าง ได้แก่
รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ยกย่องกลุ่มนาแปลงใหญ่ ต.กลาง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เป็นกลุ่มต้นแบบ พร้อมหารือภาคเอกชนพัฒนาการผลิตข้าวในโครงการผลิตข้าวมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (SRPs)

1) ข้าว GAP ซึ่งเป็นข้าวปลอดภัยที่รัฐบาลอยากให้ข้าวทุกเม็ดเป็น GAP ให้ได้ ถึงได้มีการเชื่อมโยงตลาดข้าว GAP ขึ้น

2) ข้าวอินทรีย์ โดยกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ทำแบบธรรมชาติ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะทำให้เกิดกลุ่มอินทรีย์ที่มีการรับรองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีผู้สนใจที่จะนำข้าวอินทรีย์ไปขายต่างประเทศ จึงต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากต่างประเทศด้วย กลุ่มดังกล่าวจึงถือว่าเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จมาก ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พยายามขยายตลาดด้านนี้ให้เพิ่มมากขึ้น

และ 3) การผลิตข้าวตามโครงการผลิตข้าวมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (SRPs) เป็นโครงการของต่างประเทศที่ต้องการจะเห็นการพัฒนาการเพาะปลูกข้าวอย่างยั่งยืน ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย มีมาตรฐานเหมือน GAP

แต่มีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นอีก 2 ข้อ ได้แก่ การรักษาสิ่งแวดล้อม และการไม่เอาเปรียบแรงงานมนุษย์ หรือถือได้เป็น GAP+ นั่นเอง ซึ่งเกษตรกร ต.กลาง อ.เดชอุดล สามารถผลิตออกมาได้จริง และสามารถหาคนมารับซื้อเอาข้าวออกไปได้ ในราคาที่สูงกว่าข้าวทั่วไปตามท้องตลาดตามโครงการ GAP ของรัฐบาลเช่นกัน มีความสำเร็จคือจากเดิมทำนาแปลงใหญ่แค่ 2 อำเภอ (2 แปลง) ผลผลิตประมาณ 100 ตัน ปัจจุบันสามารถขยายเป็น 7 อำเภอ คาดว่าจะได้ผลผลิต 5,000 ตัน ที่จะไปขายในระดับข้าวมาตรฐาน SRPs ได้

อย่างไรก็ตาม ได้หารือผู้แทนจากภาคเอกชน ที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการผลักดัน โดยมีความคาดหวังว่าอยากให้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแผนการผลิตระยะยาว เพื่อที่จะสามารถทำตลาดต่างประเทศได้ จึงมีการหารือเพื่อร่วมมือกันในการทำเรื่องดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลก็ดำเนินการในเรื่องนาแปลงใหญ่อยู่แล้ว ส่วนภาคเอกชนก็ร่วมมือจัดการในเรื่องการตลาด ทำให้ทุกคนร้อยอยู่ในห่วงโซ่คุณธรรม ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้แปรรูป และผู้ออกไปจำหน่าย เป็นห่วงโซ่เดียวกันที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และปลูกข้าวได้อย่างยั่งยืน มีการเติบโตขึ้นของวงการข้าวไทย ทั้งนี้ จึงถือเป็นวันแรกของการให้กำเนิดข้าวในโครงการ SRPs ให้เข้าไปสู่ตลาดโลก โดยเกษตรกร จ.อุบลราชธานี จะเป็นเกษตรกรกลุ่มแรกที่พาข้าวไทยเข้าสู่ตลาดโลกในมาตรฐานที่สูงขึ้นกว่า GAP