ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายยังจะร่วมมือ สนับสนุนเทคโนโลยีด้านการเกษตร และระบบชลประทาน โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการเกษตร และชลประทานจากอิสราเอล ที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในภาคการเกษตร ทั้งระบบน้ำหยดบนผิวดิน แบบฝังใต้ดิน และแบบฉีดฝอย เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และใช้หมุนเวียน เทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดจากน้ำเค็ม และเทคโนโลยีเครื่องจักรกลด้านการเกษตร ที่ฝ่ายไทยมีความสนใจเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้ง และไม่มีน้ำบนผิวดิน ซึ่งคล้ายคลึงกับอิสราเอล โดยมีแนวทางความร่วมมือระหว่างกันใน 3 แนวทางหลัก คือ
1) การใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะเทคโนโลยีระบบชลประทานประหยัดน้ำ เพื่อนำไปขยายผลผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ และศูนย์เครือข่ายทั่วประเทศ
2) ให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการเลือกการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เครื่องมือ และเครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และซอฟแวร์ ที่จะเชื่อมโยงและนำมาพัฒนาแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri Map
3) กำหนดแผนงาน/โครงการ/พื้นที่ดำเนินการในไทย โดยมีผู้เชี่ยวชาญอิสราเอลให้คำแนะนำ ซึ่งฝ่ายไทยได้มอบหมายให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักที่ประสานงานกับทางอิสราเอลต่อไป
"การสนับสนุนเทคโนโลยีด้านชลประทานของอิสราเอลให้กับไทยจะเกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายไทยจะได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพของอิสราเอล ขณะที่ฝ่ายอิสราเอลจะมีลู่ทางส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีของอิสราเอลในไทยด้วย เนื่องจากยังมีหลายพื้นที่การเกษตรในประเทศไทยยังประสบปัญหาแหล่งน้ำ และความแห้งแล้ง ดังนั้น จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีและผลงานวิจัยที่สามารถปัญหาอุปสรรคจากข้อจำกัดของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมาใช้เพื่อการพัฒนาการเกษตรของไทยมากขึ้น ซึ่งอิสราเอลเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับการยอมรับในเรื่องนี้ และได้ลงทุนอย่างมหาศาลในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและการชลประทานจนประสบความสำเร็จ สามารถแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืดเพื่อการอุปโภค การนำน้ำเสียจากการอุปโภคกลับมาใช้ใหม่สำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรม การมีระบบท่อส่งน้ำทั้งจากแหล่งน้ำจืดธรรมชาติและโรงงานผลิตน้ำจืดไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศ และเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เช่น การเพาะปลูกแบบระบบน้ำหยด ที่สามารถนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
นอกจากการหารือความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังเจรจาแลกเปลี่ยนเปิดตลาดสินค้าเกษตร รวมถึงการอำนวยความสะดวกเพื่อลดปัญหาอุปสรรคการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน เพื่อขยายการค้าสินค้าเกษตรกันมากขึ้นในอนาคต จากปัจจุบันอิสราเอลเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรกับไทยอันดับที่ 48 ซึ่งในปี 2559 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันเป็นจำนวน 5,542 ล้านบาท โดยมีอัตราการค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ4.62ต่อปี โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับอิสราเอลมาโดยตลอด
รวมถึงได้หารือกับหน่วยงานต่างๆ ของอิสราเอล เช่น ศูนย์วิจัยการเกษตร กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท หรือ เอ-อา-โอ (ARO) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ประสบผลสำเร็จในการวิจัยทางการเกษตร ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้มีการหารือในการแลกเปลี่ยนงานวิจัยระหว่างกัน โดยเฉพาะเรื่องงานวิจัยด้านพันธุ์พืช การเก็บรักษาผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว รวมทั้งได้เยี่ยมชมโรงงานบำบัดน้ำเสียแห่งแคว้นดาน ซึ่งเป็นโรงบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ที่สุดของรัฐอิสราเอล มีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ประมาณ 120 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สหกรณ์การเกษตร และสวนผลไม้ของอิสราเอล ที่นำระบบชลประทานแบบน้ำหยดบนผิวดิน และระบบชลประทานน้ำหยดแบบฝังใต้ดิน มาใช้ในการทำการเกษตร อีกด้วย
"ทั้งหมดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สองประเทศได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ประเทศอิสราเอลได้พัฒนาแล้วมาต่อยอดกับประเทศไทยที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับภัยแล้งและน้ำท่วม ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ สอดคล้องกับนโยบายด้านการเกษตรในช่วง 20 ปี ก็จะเน้นการทำการเกษตรที่นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้พืชผลได้รับน้ำอย่างเพียงพอแม้จะเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน จากในปัจจุบันการทำการเกษตรของประเทศไทยมีเพียงร้อยละ 20 เป็นการทำการเกษตรในพื้นที่ชลประทาน" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit