“School 4.0: คลิกเด็กไทยสู่ยุคดิจิทัล”

15 Aug 2017
เมื่อวานนี้ (2 ส.ค.) ผมได้ไปกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมสัมมนาทางวิชาการและนิทรรศการดิจิทัลทางการศึกษา 2017 หรือ "Digital for Education Forum 2017" ที่จัดโดยสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ "School 4.0 : คลิกเด็กไทยสู่ยุคดิจิทัล" ครับ
“School 4.0: คลิกเด็กไทยสู่ยุคดิจิทัล”

ผู้เข้าร่วมฟังปาฐกถาวันนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งครับ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้บริหารและครูจากโรงเรียนทั่วประเทศ และภาคส่วนต่างๆ ที่มีบทบาทในการสนับสนุนการศึกษาของไทย ผมจึงได้เน้นย้ำให้ทุกท่านได้เห็นว่า หัวใจสำคัญของ Thailand 4.0 คือ "คน" ซึ่งการพัฒนาคนจะต้องเริ่มจาก "บ.ว.ร." นั่นคือ บ้าน-วัด-โรงเรียน ครูจึงถือเป็นหนึ่งในผู้สร้างชาติ หรือ "Nation Builder" ที่จะทำให้เยาวชนของเราเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญของประเทศครับ

ดังนั้น "School 4.0" จึงเป็นฟันเฟืองสำคัญของ Thailand 4.0 ในการสร้างคนไทยให้เป็น "มนุษย์ที่สมบูรณ์" สำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะต้องมี "4H" นั่นคือ Head, Hand, Health, Heart ที่ครบถ้วน จากมนุษย์ที่สมบูรณ์พรั่งพร้อมด้วย 4H ก็จะช่วยกันสร้างสังคมแห่งความหวัง (Hope) สังคมแห่งความปกติสุข (Happiness) และ สังคมแห่งความปรองดอง (Harmony)เราต้องช่วยกันสร้างเด็กไทยให้สามารถปรับตัวเข้ากับพลวัตในโลกยุคดิจิทัล ยุคที่ "องค์ความรู้" อาจไม่ใช่อำนาจที่แท้จริง (Power of Knowledge) อีกต่อไป แต่จะเป็นยุคของการแบ่งปันองค์ความรู้ (Power of Shared Knowledge) เพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน (Caring & Sharing Knowledge) ให้เกิดขึ้น

ควบคู่กับการแบ่งปันองค์ความรู้ คือการสร้างนัย และคุณค่าให้เกิดขึ้นจากองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นกับมวลมนุษย์ชาติ เราจึงไม่เพียงแต่ producing the knowledge แต่เราต้อง creating the meaningful value ด้วยในขณะเดียวกัน

ผมเห็นว่า ครูต้องสร้าง "4E" เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและเติมเต็มศักยภาพของเด็ก นั่นคือ (1) Exploring สนับสนุนให้เด็กค้นคว้าค้นหา (2) Experimenting ให้เด็กเกิดการทดสอบทดลอง (3) Experiencing ให้เด็กมีประสบการณ์ที่เกิดจากเรียนรู้ และ (4) Exchanging ให้เด็กเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งอาจแลกเปลี่ยนในกลุ่มเด็กด้วยกันเอง หรือแลกเปลี่ยนกับครูก็ได้ เพื่อสร้างให้ E ตัวสุดท้าย นั่นคือการเป็น Expert หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ครับ

ท้ายนี้ ผมได้ฝากให้ครูทุกท่านได้คิดว่า ต่อไปนี้ครูอาจจะต้องไม่ใช่ teacher เพียงอย่างเดียว หรือนักเรียนจะต้องไม่เป็นแค่ learner เท่านั้น แต่ครูและนักเรียนจะต้องเป็นทั้ง teacher & learner เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกันและอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างเด็กไทยให้พร้อมกับโลกในศตวรรษที่ 21 นั่นคือ ครูจะต้องปลูกฝังให้เด็กไทยมีทั้งค่านิยมปัจเจกนิทัศน์ (Self-Expression Value) เพื่อสร้างเสริม "ความเป็นตน" และค่านิยมจิตสาธารณะ (Communal Value) เพื่อเสริมสร้าง "ความเป็นคน"

ทั้ง 2 ค่านิยม เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบพร้อมรับ Thailand 4.0 ที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ครับ