ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ปี 2559 พบมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไทย ไม่รวมซอฟต์แวร์เกมและแอนิเมชั่น ปี 2559 มีมูลค่าการผลิต 50,129 ล้านบาท ลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 4.63 โดยมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์นำเข้าประเทศไทยลดลงจากปี 2558 ราวร้อยละ 5.42 สวนทางมูลค่าซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เพื่อการพัฒนาในองค์กรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.25 ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนถึงอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์วันนี้ที่กำลังเปลี่ยนรูปแบบต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แทนที่จะขายไลเซนส์ซอฟต์แวร์ แต่บริษัทซอฟต์แวร์ต้องนำซอฟต์แวร์มาสร้างเป็นบริการ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามทิศทางการปรับตัวของธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
ดร.ณัฐพล กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะอยู่ได้เพราะองค์กรธุรกิจนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยซอฟต์แวร์ ธุรกิจแบบเดิมจะไม่โตหากไม่ปรับตัว ดังนั้นบริษัทซอฟต์แวร์จึงต้องตอบโจทย์องค์กรธุรกิจด้วยบริการในรูปแบบการนำซอฟต์แวร์มาสร้างบริการ เพราะหากบริษัทซอฟต์แวร์ยังเดินธุรกิจรูปแบบเดิมจะเห็นทิศทางที่ถดถอยชัดเจน และเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในการพัฒนารูปแบบในการให้บริการ ดีป้าจึงได้ผลักดัน 3 มาตรการสำคัญได้แก่ 1. มาตรการสร้างตลาด โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานและบริหารจัดการธุรกิจเพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา 2. มาตรการสร้างความเชื่อมั่น โดยการส่งเสริมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ ให้ได้รับมาตรฐาน ISO 29110 โดยจะสานร่วมมือกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย NECTEC และกระทรวงอุตสาหกรรม โดย MASCI ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์มีการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และ 3. มาตรการการสร้างขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation) ซึ่ง "คน" เป็นปัจจัยหนึ่ง โดยจะจัดตั้งสถาบันไอโอที โดยในสถาบันจะประกอบไปด้วยพื้นที่สำหรับ IoT co-working space, Cloud innovation center, Maker space ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงมีพื้นที่จับคู่ธุรกิจ โดยสถาบันจะไม่เน้นวิชาการแต่อยู่บนพื้นฐานและสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจจริง เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มต้นที่ จ.ชลบุรี โดยทั้ง 3 มาตรการดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์กลับมาคึกคักอีกครั้ง
รศ.ดร. ธนชาติ นุ่มนนท์ จากสถาบัน IMC กล่าวว่า ต้องพัฒนาบุคลากร โดยรัฐควรมีนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาบุคลากรซอฟต์แวร์อย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อให้เกิดผลโดยเร็ว รวมทั้งควรมีแผนพัฒนาบุคลากรทั้งในระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาในขั้นวิกฤติด้านการขาดแคลนบุคลากรซอฟต์แวร์ รวมทั้งควรปรับหลักสูตรการเรียนการสอนด้านซอฟต์แวร์ให้ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี บทสรุปของการสำรวจนี้คือรัฐควรต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้ซอฟต์แวร์ในกลุ่มผู้ประกอบการระดับ SME ให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้เกิดผลประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในระยะยาว
หนึ่งในบทสรุปของการสำรวจครั้งนี้คือ คณะผู้วิจัยได้ขอเสนอแนะให้สำรวจส่วน Software-Enable Service ด้วย เนื่องจากเป็นแนวโน้มของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่กำลังเกิดขึ้น และมีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าอีกมาก โดยไม่ได้จำกัดอยู่ในวงอุตสาหกรรมใดๆ เท่านั้น แต่จะขยายไปยังกลุ่มผู้บริโภคโดยตรงอีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit