ล่าสุดจัดนิทรรศการแสดงผลงานปริญญานิพนธ์ ครั้งที่ 5 "XCHO (เอคโค่) Thesis Exhibition" เพื่อส่งเสริมและผลักดันผลงานของนักศึกษา มุ่งเน้นให้นักศึกษาสามารถประเมิน สร้าง และนำเสนองานมีเดียได้อย่างเหมาะสม มีความเป็นมืออาชีพ มีทักษะทางวิชาชีพ พร้อมประกอบอาชีพหลังสำเร็จการศึกษา และสามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ณ สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ โดยมีผลงานนักศึกษามากกว่า 100 ผลงานที่เข้าร่วมแสดงในครั้งนี้ อาทิ การศึกษาการพัฒนาหุ่นจำลองเพื่อสอนการตรวจเต้านมด้วยตนเอง กรณีศึกษา: กลุ่มสตรีในตำบลชัยมงคล จังหวัดสมุทรสาคร โดย นางสาวอิชยา นิธิพงศธร และนางสาวสุชาดา วงษ์วัย กล่าวว่า "เป็นการพัฒนาหุ่นจำลองเพื่อการตรวจเต้านมด้วยตนเอง มีลักษณะเหมือนของจริงเพื่อให้อาสาสมัครได้นำมาใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อสอนให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถตรวจเต้านมเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง หากพบก้อนเนื้อในเต้านมจะได้ดำเนินการรักษาได้ทันที ลักษณะของหุ่นจำลองจะมีในรูปแบบระบบเสียงในเพื่อใช้ในการบอกตำแหน่งของก้อนเนื้อที่คลำเจอ โดยจะมี 2 ระดับ ระดับลึก ระดับตื้น และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการให้ความรู้ ความเข้าใจ และมีความมั่นใจในการตรวจหาก้อนเนื้อได้ด้วยเองมากขึ้น"
การสร้างหุ่นจำลองฝึกทักษะการเจาะเลือดและให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ผลงาน โดยนางสาวกานต์ชนก จิระรัชนิรมย์ กล่าวว่า "ปัจจุบันมีอุปกรณ์เพื่อใช้ในการฝึกทักษะทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการเจาะเลือดและเจาะหลอดเลือดดำสำหรับให้สารน้ำมีจำนวนน้อย จึงมีแนวคิดการสร้างหุ่นจำลองสำหรับฝึกทักษะการเจาะเลือดและให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาพยาบาลในการฝึกทักษะการเจาะเลือดและให้สารน้ำก่อนการปฏิบัติงาน โดยใช้หุ่นจำลองเป็นทำการทดลองเบื้องต้นก่อนไปทดลองกับคน หุ่นจำลองนี้ถอดแบบมาจากแขนจริง โดยใช้วัสดุในการผลิตจากยางพาราที่มีคุณลักษณะนิ่ม เพื่อจะใช้ในการฝึกคลำหาตำแหน่งในการเจาะหาเส้นเลือดดำ และฝึกน้ำหนักมือในการแทงเข็มให้มีความแม่นยำมากขึ้น"
การออกแบบแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ข้อมูลด้านสุขภาพพื้นฐาน สำหรับการดูแลผู้สูงอายุ ออกแบบโดยนายเมธา ประทุมทอง และนายทศพร สังข์กังวาล กล่าวว่า "เป็นการออกแบบแอพพลิเคชั่นเพื่อรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ สามารถใช้สมาร์ทโฟนในการช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้นได้ มีการให้ข้อมูลด้านสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ โดยจะแบ่งเป็นหลายหมวด เช่น ข้อมูลโรคผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย การดูแลสุขภาพตามโรค การแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลากินยา หรือแม้แต่การค้นหาโรงพยาบาล และระบบสามารถรองรับการพัฒนาเพื่อเพิ่มเติม ข้อมูล หรือฟังก์ชั่นการทำงานเรื่องอื่นๆ ได้ในอนาคต"
การออกแบบอัตลักษณ์องค์กร บรรจุภัณฑ์ และเว็บไซต์เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ชุมชน ท้องถิ่น อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ออกแบบโดย นางสาวณัชชา กลัดเข็มทอง นางสาววศินี นวเนติวงศ์ นางสาวอัญชิสา ปิยะพงศ์สิริ นางสาวธันยานี สิทธิกรโรจน์ นางสาวบุษกร อำพลพีรพันธ์ นางสาวภาสุรี พุ่มมาลี และนายสหรัฐ เดชอุปกร กล่าวว่า "จากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการของชุมชนบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยเข้าไปส่งเสริมและพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ โครงงานนี้ถือเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ การเพิ่มมูลค่า และความเป็นตัวตนของชาวบ่อเกลือได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมสินค้าประเภทเกลือที่เป็นของขึ้นชื่อ น้ำผึ้งที่หายากจากป่าของชาวมละบริ และผลผลิตทาง การเกษตรของชาวบ้านที่มหาวิทยาลัยเข้าไปส่งเสริมพัฒนาอย่างยั่งยืน
การศึกษาชีวิตพฤติกรรมบุคคลที่มีภาวะตาบอดสีเพื่อนำมาใช้ในงานแอนิเมชั่น 2 มิติ ออกแบบโดย นางสาวธนัชพร เดชกุญชร นายเจตวุฒิ อรุณทวีทรัพย์ นายธนพนธ์ ปิ่นสกุล และนางสาวสมิตนันท์ บรรจงสวัสดิ์ เป็นการออกแบบภาพยนตร์แอนิเมชั่นเพื่อสะท้อนถึงมุมมองของคนที่มีภาวะตาบอดสี ที่สามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติ อีกทั้งภาพยนตร์ ยังกระตุ้นความคิดในด้านบวกและเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่มีภาวะตาบอดสีในการใช้ชีวิต รวมถึง ให้มุมมองการมองของคนที่เป็นภาวะตาบอดสีในรูปแบบที่สวยงามเสมือนภาพงานศิลปะแนว Pop art ที่มีสีสันที่สดใส เปรียบดังการใช้ชีวิตของผู้ที่มีภาวะตาบอดสีในภาพยนตร์
การออกแบบสื่อภาพประกอบอักษรเบรลล์ ประกอบการเรียนการสอนเรื่องสุขอนามัยทางเพศ สำหรับคนพิการทางสายตาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยใช้เทคนิคการพิมพ์ภาพ 3 มิติ ออกแบบโดย นางสาวอนิษา สายสุทธิ์ และนางสาวภาวิดา อิทธิพลกังวาล อธิบายว่า "จัดทำบทเรียนเรื่องการป้องกันและการคุมกำเนิด และการดูแลรักษาความสะอาดอวัยวะเพศสำหรับนักเรียนคนพิการสายตาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยใช้เทคนิค 3 มิติ ทำเป็นภาพประกอบผู้เรียนจะได้สัมผัส รับรู้รูปร่างที่เหมือนจริง โดยทำภาพประกอบด้วยสีเหลืองเป็นหลัก เนื่องจากคนพิการสายตาแบบเลือนลาง สามารถมองเห็นสีเหลืองเป็นสีแรก ซึ่งผลงานได้ทดสอบจริงกับกลุ่มนักเรียนที่พักอยู่ในโรงเรียนสอนคนตาบอด"
นอกจากกิจกรรมดังกล่าว นักศึกษาโครงการร่วมบริหารหลักสูตรมีเดียอาตส์และเทคโนโลยีมีเดียได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ได้รับรางวัลจากเวทีต่างๆ มากมาย ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวจะเป็นพลังที่คอยกระตุ้นให้นักศึกษาได้สร้างสรรค์ผลงานมีเดียในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสังคมต่อไปอย่างยั่งยืน