10 จังหวัด 65 ชุมชนร่วมปณิธาน “ก้าวสู่ชีวิตพอเพียง” เลี่ยงอบายมุข

11 Aug 2017
10 จังหวัด 65 ชุมชนร่วมปณิธาน "ก้าวสู่ชีวิตพอเพียง" เลี่ยงอบายมุข ชู 5 แนวปฏิบัติสร้างการ "ระเบิดจากข้างใน" ถวายเป็นปฏิบัติบูชาแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จากเข้าพรรษาถึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ
10 จังหวัด 65 ชุมชนร่วมปณิธาน “ก้าวสู่ชีวิตพอเพียง” เลี่ยงอบายมุข

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และภาคีภาคประชาชน 10 จังหวัด ได้ร่วมกันดำเนินโครงการ "๙ สู่ชีวิตพอเพียง" เพื่อรณรงค์และส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถวายเป็นปฏิบัติบูชาต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนให้คนไทยได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีที่มีต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 สสส.จึงสนับสนุนให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ ใน 10 จังหวัด 4 ภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดพะเยา น่าน ลำปาง กาฬสินธุ์ สุรินทร์ เลย อุบลราชธานี สระบุรี พัทลุง และกรุงเทพมหานคร ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในการน้อมนำแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมานำทางชีวิต เพื่อยกระดับการแสดงออก "จากวาจาสู่หัวใจ จากความตั้งใจสู่การปฏิบัติ" โดยได้ออกแบบให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน ที่จะนำมาสู่การค้นพบทุกข์สุขของตนเองและชุมชน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเองอย่างที่ในหลวงทรงใช้คำว่า "ระเบิดจากข้างใน" ทั้งหมด 5 หัวเรื่องคือ หลีกเลี่ยงอบายมุข สุขกับบัญชีครัวเรือน เตือนตนให้เป็นนักผลิต หมั่นเก็บออมอยู่เป็นนิจ และติดอาวุธความคิดเป็นประจำ ด้วยการนำสิ่งที่ได้ปฏิบัติมาสรุปบทเรียน เรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องเดือนละหนึ่งครั้ง ตลอดช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ถึงประมาณต้นเดือนตุลาคม

นางคณางค์ กงเพชร ประธานสมาคมครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดกาฬสินธุ์ หนึ่งในภาคีที่เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า "ปัจจุบันอุปสรรคสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวไทยยังพอเพียงไม่ได้คือเรื่องของอบายมุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพนัน ซึ่งจากการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโครงการนี้พบว่า ในกลุ่มเด็ก เยาวชน มีการเล่นน้ำเต้า ปู ปลา พนันฟุตบอล เล่นหวยใต้ดิน ขณะที่ในกลุ่มผู้ใหญ่เล่นหวยใต้ดิน เป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นพนันมวยตู้ ไฮโล และพนันไก่ชน ส่วนในชุมชนยังคงมีการเล่นไฮโลในงานศพ แม้ว่าปัญหาการพนันในชุมชนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์จะยังไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็จำเป็นต้องสร้างการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาพนัน การหลีกเลี่ยงพนันอย่างมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง และเฝ้าระวังไม่ให้เกิดพนันหน้าใหม่

นางปิยนารถ หนูพลับ "คนต้นแบบ ลด ละ เลิก พนัน" จากจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า เธอเกิดและเติบโตมาในวงพนัน ตาของเธอเป็นเจ้ามือไฮโล ยายชอบเล่นไพ่ พ่อชอบซื้อหวย จะมีก็แต่แม่เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ไม่เล่นการพนันเลย เธอเรียนรู้ทุกอย่างจากตา ยายและพ่อ ทำให้เธอเชื่อมาตลอดว่าการพนันเป็นทางที่หาเงินมาได้ง่ายที่สุด จวบจนตอนมาเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพ เธอก็ยังใช้การพนันเป็นเครื่องมือในการหาเงินมาจับจ่ายใช้สอย จนเธอแต่งงาน สามีของเธอก็ชอบเล่นการพนัน ก็ไปเล่นด้วยกัน บางครั้งเล่นเสียคืนหนึ่งเป็นเงิน 50,000 – 100,000 บาท เธอจึงกลับมาคิดทบทวนว่าเงินที่ได้จากการพนันจะอยู่กับเราไม่นาน คนที่รวยกับการพนันมีไม่กี่คน แต่คนที่จนกับการพนันเราเห็นกันทั่วไป เธอจึงตั้งใจจะเลิกเล่นการพนันด้วยเหตุผลสองข้อ ข้อแรก คือไม่อยากให้ลูกชายโตมาในสิ่งแวดล้อมเหมือนกับที่เธอโตมา ข้อที่สอง คือ เธอเป็นข้าราชการ เป็นข้าของในหลวง ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนทั่วไปได้ ถ้าข้าราชการเล่นการพนันจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ เธออยากนำพาให้ชุมชนหลุดพ้นจากวงจรพนัน จึงตัดสินใจเลิกเล่นพนันเด็ดขาด

"วันนี้จึงภูมิใจที่มองการพนันเป็นเรื่องไร้สาระ และสามารถดึงคนในครอบครัวให้เลิกเล่นการพนันและอบายมุขอื่นๆได้ และเป็นต้นแบบที่ดีให้กับคนอื่นได้ คนเราเลือกเกิดไม่ได้แต่เลือกที่จะนำพาชีวิตไปในทางที่ดีได้" นางปิยนารถกล่าว

ด้านนายพันธ์ศักดิ์ คำแก้ว ประธานสมาคมครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดลำปาง กล่าวว่า "จากการไปจัดกิจกรรมเรียนรู้ในพื้นที่ 6 อำเภอในจังหวัดลำปางในช่วงเดือนที่ผ่านมา เรื่องการหยุดพนัน การเป็นนักผลิต การทำบัญชีครัวเรือน ได้เสียงตอบรับดีเกินคาด เพราะประชาชนต้องการสานต่อพระราชปณิธานที่จะก้าวสู่ชีวิตพอเพียง ก้าวตามรอยพ่อของแผ่นดิน และคาดว่าเมื่อดำเนินกิจกรรมตามโครงการนี้จนจบจะได้บทเรียนดีๆจากครอบครัวและชุมชนต้นแบบมากมาย ซึ่งทางสสส.จะได้นำเรื่องดีเหล่านี้ไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อถวายเป็นปฏิบัติบูชาแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในช่วงพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และช่วงวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคมปีนี้"

10 จังหวัด 65 ชุมชนร่วมปณิธาน “ก้าวสู่ชีวิตพอเพียง” เลี่ยงอบายมุข 10 จังหวัด 65 ชุมชนร่วมปณิธาน “ก้าวสู่ชีวิตพอเพียง” เลี่ยงอบายมุข 10 จังหวัด 65 ชุมชนร่วมปณิธาน “ก้าวสู่ชีวิตพอเพียง” เลี่ยงอบายมุข