อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 1 ปีที่ลดลงอย่างรวดเร็วต่อเนื่องจากเฉลี่ย 1.5% ในเดือนพฤษภาคม 2017 เหลือ 1.46% ในเดือนกรกฎาคม สาเหตุหนึ่งมาจากเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจภาคต่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่งจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่อีกสาเหตุหนึ่งอาจมาจากการคาดการณ์ของนักลงทุนที่ว่า ธปท. อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. ในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่กลับไปติดลบ 0.04 และ 0.05 ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา และตัวเลขล่าสุดในเดือนกรกฎาคมก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.17%
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อระดับต่ำดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากฐานราคาที่สูงในปีก่อนจากเหตุการณ์ภัยแล้ง ในขณะที่เดือนกรกฎาคมมีผลผลิตทางการเกษตรออกมามากจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ราคาอาหารสดลดต่ำลง ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ มองว่าอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำดังกล่าวเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราว และอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีจะเพิ่มสูงขึ้น และเฉลี่ยที่ 1% ในปี 2017หากพิจารณาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำนั้นเป็นผลมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ ซึ่งได้รับผลจากราคาพลังงานตกต่ำเป็นหลัก โดยหากพิจารณาองค์ประกอบเงินเฟ้อของไทยจะพบว่ามีหลายองค์ประกอบที่ราคาเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน และองค์ประกอบที่ราคาไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีภาครัฐให้การสนับสนุนอยู่ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา อีกทั้งยังมีบางองค์ประกอบที่ราคาเคยถูกปรับขึ้นไปแล้วในช่วงที่ต้นทุนการผลิตสูงจากราคาน้ำมันที่สูงมาก ทำให้ยังไม่จำเป็นต้องปรับราคาขึ้นอีกในช่วงนี้ที่ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำ เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ อาหารสำเร็จรูป ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดนัก อีกทั้ง การลดดอกเบี้ยอาจไปกระตุ้นพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรือ search for yield ทำให้มีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในตลาดการเงิน
นอกจากนี้ หากพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันจะพบว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสหนึ่ง ขยายตัวได้ 3.2% ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2014 ที่ขยายตัวเพียง 0.9% อีกทั้งยังมีการลงทุนภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็ยังขยายตัวได้ดี ถึงแม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวในอนาคตจากดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และยังจะได้แรงสนับสนุนจากโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอีกด้วย
ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า ธปท. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ตลอดปีนี้ แม้จะมีความกดดันเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายบ้าง แต่มองว่าอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำมากดังกล่าวจะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น อีกทั้งเศรษฐกิจไทยก็ยังสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากปัจจัยขับเคลื่อนทั้งภายในและภายนอกประเทศ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจยังไม่จำเป็นในปีนี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit