ดาโต๊ะ สะรี ฮัมซะฮฺ ไซนุดดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า สหกรณ์และผู้บริโภค ประเทศมาเลเซีย นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ พร้อมผู้แทนทางการค้าของมาเลเซีย เข้าเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีรศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล พร้อมด้วยทีมบริหารของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล และรศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล เผยว่า การเข้าเยี่ยมชมของคณะ รมต.มาเลเซีย ครั้งนี้ เพราะต้องการทราบความก้าวหน้าของฮาลาลประเทศไทย และประสงค์จะสร้างความร่วมมือระหว่างมาเลเซียและประเทศไทยด้านการพัฒนางานรับรองฮาลาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการใช้วิทยาศาสตร์ ฮาลาล ซึ่งทางมาเลเซียยอมรับว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านนี้ในระดับสูง ได้เห็นระบบห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล เห็นการดำเนินงานวางระบบการมาตรฐานฮาลาล ได้ชมการสาธิตระบบไอทีและแอ็พพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้น อีกทั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลยังได้พัฒนาระบบ H-Number จนเสร็จสิ้น และเมื่อต้นปี 2560 ประเทศไทยยังได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิก OIC และ SMIIC ซึ่งเมื่อได้เห็นความแข็งแกร่งของ ฮาลาลประเทศไทยจึงมั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซียจะมีมากขึ้นในอนาคต
ประเทศมาเลเซียมีกฎหมายด้านการรับรองฮาลาล โดยกระทรวงการค้า สหกรณ์และผู้บริโภค เป็นผู้ดูแลตั้งแต่เรื่องนโยบายไปจนถึงงบประมาณ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานด้านศาสนาอิสลามเป็นผู้ดูแลการรับรองฮาลาลของมาเลเซีย โดยมีชื่อย่อว่าJAKIM ซึ่งดำเนินงานภายใต้กระทรวงการค้า สหกรณ์และผู้บริโภค ที่มีรัฐมนตรีกระทรวงการค้าฯ คือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในเรื่องการรับรอง ฮาลาลของมาเลเซีย จุดสำคัญที่ทางมาเลเซียนำเสนอคือการมีกฎหมายโดยทางกระทรวงการค้าฯ เป็นผู้ดูแลการบังคับใช้ อันเป็นคำตอบว่าเหตุใดตราฮาลาลของมาเลเซียจึงได้รับการยอมรับสูง แต่จุดอ่อนของไทยคือ ตราฮาลาลประเทศไทยยังขาดกฎหมายเอาผิดผู้ละเมิดนั้นเอง
และได้เห็นตรงกันว่าไทยและมาเลเซียไม่ใช่คู่แข่งกัน คู่แข่งแท้จริงคือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการรับรองฮาลาลทั้งสำหรับมุสลิมและผู้ที่มิใช่มุสลิม เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้เปรียบด้านราคา จึงทำให้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพได้มากกว่า หากสองประเทศร่วมมือกันก็จะสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ฮาลาลแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มี การรับรองฮาลาลได้ทั้งด้านคุณภาพและราคา ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือผู้บริโภครวมทั้งนักธุรกิจและอุตสาหกรรมฮาลาล ความร่วมมือระหว่างสองประเทศ เพื่อพัฒนางานด้านนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง