นางมัลลิกา ภูมิวาร ผู้เชี่ยวชาญด้าน
ภาษีศุลกากรและการค้าการลงทุน
ระหว่างประเทศ จาก
โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี คอนซัลติ้ง จำกัด และที่ปรึกษาธุรกิจภาคเอกชน เผยจาก ข่าวมติ ครม. ที่ให้มีการปรับขึ้นภาษีบาปร้อยละ 2 เพื่อสนับสนุน
กองทุนผู้สูงอายุ โดยจะมีผลบังคับใช้ประมาณต้นปี 2561 นั้น นางมัลลิกากล่าวว่าเป็นการเร็วเกินไปที่จะประเมินถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภาพรวม เนื่องจากจะต้องดูกฎหมายภาษีสรรพสามิตใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.ย. นี้ เพื่อรอดูถึงโครงสร้างการจัดเก็บที่จะออกแบบมาเป็นฐานการจัดเก็บภาษีในสินค้าต่างๆ รวมถึงสินค้าบาปในกลุ่มเหล้าและบุหรี่ด้วย จากนั้นจึงจะสามารถเห็นได้ว่าภาษีที่จัดสรรพิเศษให้กองทุนใหม่นี้ส่งผลกระทบมากหรือน้อยในส่วนของการเพิ่มภาระภาษี ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามกรอบหลักการรายได้คงเดิม (Revenue Neutrality) ตามที่กรมสรรพสามิตตั้งเจตนารมณ์ไว้ในการ
ปฏิรูปภาษีสรรพสามิตใหม่ "ที่สำคัญที่ภาคเอกชนรอดู คือ rate หรืออัตราภาษีที่จะเก็บจริงในแต่ละสินค้าและรูปแบบของการรายงานที่ต้องแจ้งต่อกรมสรรพสามิต และกรมศุลกากรในกรณีการนำเข้าสินค้า ซึ่งหลัง 16 ก.ย. ทุกสินค้าที่เข้าข่ายการเสียภาษีสรรพสามิตจะใช้ราคาขายปลีกแนะนำเป็นฐาน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะต่างชาติที่เข้ามาลงทุนได้มีการพูดคุยและสื่อสารกับภาครัฐไปก่อนหน้านี้ถึง เรื่องการยึดหลักการ "สร้าง
ความเท่าเทียม" (level-playing field) ในสมรภูมิการค้าให้กับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ โดยการกำหนดโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่อาจจะกลายเป็นประเด็นข้อขัดแย้งทางการค้าอีกครั้งหากสร้างความเหลื่อมล้ำในการกำหนดโครงสร้างและอัตราภาษีที่อาจเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการในประเทศ สิ่งนี้คือประเด็นที่ท้าทายว่าภาครัฐไทยจะออกแบบการจัดเก็บภาษีอย่างไรให้เกิดความเท่าเทียมและสร้างภาวะที่แข่งขันได้ให้กับผู้เล่นทางธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ยังคงสร้างรายได้จากเม็ดเงินภาษีเข้ารัฐได้"
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีและการลงทุนกล่าวเน้นย้ำว่าหลักการจัดเก็บภาษีที่จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมและดีที่สุดก็คือการใช้อัตราเดียวกับสินค้าประเภทเดียวกันเพื่อความเรียบง่ายในการจัดเก็บ (Unitary rate) เพราะจะไม่ก่อให้เกิดข้อกังขาในการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศจนอาจถูกมองได้ว่ามีลักษณะ protectionism อันเป็นหลักการที่นานาชาติสากลไม่สนับสนุน นอกจากนี้การเก็บภาษีสินค้านำเข้าในอัตราที่สูงกว่าเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อสินค้าในประเทศอาจขัดต่อกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) อีกด้วย
นางมัลลิกากล่าวทิ้งท้ายว่า "ภาคเอกชนยังห่วงเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านกฎระเบียบในระดับการปฏิบัติงานจริงว่าได้มีการจัดการระบบต่างๆ รองรับและประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้พร้อมก่อน 16 ก.ย. ต่อการเปลี่ยนผ่านไปใช้ภาษีใหม่โดยไร้รอยต่อเพื่อตอบรับสังคมยุค 4.0 แล้วหรือไม่ โดยภาคธุรกิจได้ร้องขอให้รัฐคำนึงถึงช่วงระยะเวลา lead time ในการปฏิบัติงานในส่วนนี้และทำให้ระบบทั้งหมดเชื่อมต่อและเข้าถึงได้โดยง่าย เนื่องจากภาคเอกชนมีความกังวลมากในเรื่องความต่อเนื่องของธุรกิจ หากมีอันต้องสะดุด หรือชะงักงันลงด้วยเหตุผลทางเทคนิคและความปลอดภัย(security) ของระบบก็อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการวางแผนลงทุนของนักลงทุนด้วย"