ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่สำคัญทางภาคเหนือ แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวไม่น้อยกว่าปีละ 7 ล้านคน ที่ผ่านมาพบว่าระบบขนส่งมวลชนสาธารณะยังขาดประสิทธิภาพ และไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวและประชาชนท้องถิ่น
ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชน และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้สามารถเข้าถึงบริการรถสองแถวแดง ซึ่งเป็นรถสาธารณะหลักของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟน จึงได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พัฒนาแอพพลิเคชั่น "CM Taxi" เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ภายใต้โครงการ "ระบบตารางเดินรถสองแถวแดงแบบแอคทีฟและการพัฒนาแอพโทรศัพท์มือถือ" โดยการสนับสนุนงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
สำหรับการทำงานของแอพพลิเคชั่น "CM TaxI" ได้มีการศึกษาและพัฒนาเพื่อให้เข้ากับวิถีของคนเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวที่มาเยือน มีหลักการออกแบบคือ ให้การบริการสองแถวแดงเป็นระบบแชร์แท๊กซี่ (Share taxi หรือ Car pool) ที่การให้บริการของสองแถวแดงสามารถรับผู้โดยสารระหว่างทางเพิ่มเติมได้ ให้ผู้โดยสารเข้าถึงคนขับโดยตรง ไม่มี Call center หรือ Command center และไม่เสียค่าบริการให้กับแอพพลิเคชั่น ผู้โดยสารสามารถต่อรองราคาได้ ผลการออกแบบได้โหมดการทำงานมี 3 โหมด คือ "โทรได้ เรียกได้ และโบกได้" โหมด "โทรได้" ผู้โดยสารสามารถโทรเหมารถกับคนขับรถได้โดยตรง โดยเลือกจากรายการรถจอดรอที่แสดงในหน้าแอพพลิเคชั่น การโทรเหมาจะเหมาะกับกลุ่มผู้โดยสารที่เดินทางหลายคน หรือมีสัมภาระจำนวนมาก เช่น แม่ค้าที่ขายของในตลาด หรือนักเดินทางที่มาทางเครื่องบิน รถไฟ หรือรถบัส สามารถนัดหมายให้มารับตามเวลาที่นัดหมายกันไว้ได้ สามารถโทรเหมารถได้ทั้งวัน เช่น ท่องเที่ยวขึ้นดอย เป็นต้น โหมด "เรียกได้" เป็นแบบเรียกรอแบบออนไลน์คล้ายกับแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือทั่วไป ผู้โดยสารจะต้องแจ้งปลายทางที่จะเดินทางและจำนวนคนเดินทาง คนขับจะตอบกลับมาว่าคิดราคาค่าบริการเป็นจำนวนเงินเท่าไร เมื่อตกลงทั้งสองฝ่ายแล้วคนขับถึงจะขับรถมารับผู้โดยตามตำแหน่ง GPS ที่แสดงในแผนที่ โหมดนี้พื้นที่บริการภายในวงแหวนรอบ 2 ของจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น และ "โบกได้" ผู้โดยสารจะต้องไปยืนโบกรถที่ป้ายจริง (ป้ายรับผู้โดยสารของเทศบาลนครเชียงใหม่ 200 จุด) คนขับจะต้องป้อนตำแหน่งป้ายที่ตนเองจะขับผ่าน 3-4 ป้าย เพื่อระบบจะนำข้อมูลมาสร้างเส้นทาง (route) ชั่วคราวขึ้น เพื่อผู้โดยสารจะได้เห็นรถในแอพโทรศัพท์มือถือทั่วไป และเดินไปโบกรถที่ป้ายได้ โหมดนี้เป็นการจำลองระบบทรานซิส (Transit) ที่ใช้ในต่างประเทศ แต่เอามาประยุกต์ให้เป็นการสร้างเส้นทางแบบชั่วคราว ทั้ง 3 โหมดจะช่วยให้ผู้โดยสารจะได้รับความเป็นธรรมในราคาค่าบริการสามารถที่จะปฏิเสธได้ถ้าราคาไม่เหมาะสม แอพพลิเคชั่นสามารถรองรับระบบปฏิบัติการ Android และ IOS รองรับได้ 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ใช้งานง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน
"ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น CM Taxi มีรถสองแถวแดงเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้วจำนวน 500 คัน ซึ่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานตั้งเป้าหมายที่ 1,000 คันในเบื้องต้น จากจำนวนรถสองแถวแดงทั้งสิ้น 2,400 คัน และจากการเปิดใช้งานที่ผ่านมา มีผู้โดยสารมีการโหลดแอพพลิเคชั่นแล้วกว่า 2,000 ราย ซึ่งประโยชน์ของการดำเนินโครงการฯ นอกจากการนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะการวิ่งวนเที่ยวเปล่าเพื่อรับผู้โดยสาร ซึ่งเป็นระบบเดิมที่มีการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวนมาก รวมถึงการจอดรถของรถสองแถวแดงในบริเวณที่เหมาะสม เพิ่มรายได้ให้เจ้าของรถ ลดมลพิษทางอากาศและเสียง ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยตั้งเป้าประหยัดน้ำมันลงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 หรือคิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ปีละประมาณ 30 ล้านบาท โดยหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ จะมีการขยายระบบไปยังเส้นทางเดินรถในอำเภอใกล้เคียง และจังหวัดอื่นๆ " ดร.ทวารัฐ กล่าว
โดยหากสนใจข้อมูลโครงการ "ระบบตารางเดินรถสองแถวแดงแบบแอคทีฟและการพัฒนาแอพโทรศัพท์มือถือ" หรือ แอพพลิเคชั่น "CM Taxi" โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร.0 5394 4146 ต่อ 943
ติดตามข้อมูลข่าวสารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.enconfund.go.th และ Facebook : Enconfund Thailand และศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โทร. 0 2612 1555 ต่อ 204 – 205
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit