สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จร่วมงานประชุมผู้รับรางวัลโนเบล 2017 ณ ประเทศเยอรมนี นักวิทย์ไทยถ่ายทอดประสบการณ์แห่งความปิติ

08 Aug 2017
ทุกกลางปีจะเป็นช่วงเวลาพิเศษที่หนุ่มสาวนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากนานาประเทศกว่า 400 คน จะได้มาพบปะกับนักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลหลายรุ่น ในงานประชุม Nobel Laureate Meeting 2017 ปีนี้พิเศษยิ่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาร่วมงาน และมี 6 นักวิทยาศาสตร์หนุ่มสาวรุ่นใหม่จากประเทศไทยเฝ้ารับเสด็จด้วยความปิติยินดีเป็นล้นพ้น ณ เมืองลินเดา ประเทศเยอรมนี ด้วยทรงมีพระประสงค์จะให้นักศึกษา และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมและเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาต่างๆ เพื่อมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ของไทยในอนาคตต่อไป
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จร่วมงานประชุมผู้รับรางวัลโนเบล 2017 ณ ประเทศเยอรมนี นักวิทย์ไทยถ่ายทอดประสบการณ์แห่งความปิติ

การประชุมนี้จัดโดยสภาผู้ได้รับรางวัลโนเบลแห่งเมืองลินเดา (The Council for the Lindau Nobel Laureate Meetings) ร่วมกับ มูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ทะเลสาบคอนสแตนซ์ (Foundation Lindau Nobel Prize Winners Meetings at Lake Constance) ปีนี้นับเป็นปีที่ 67 และจะหมุนเวียนเปลี่ยนสาขาของวิทยาการ เช่น สาขาฟิสิกส์ สาขาเคมี และสาขาสรีรวิทยา หรือการแพทย์ โดยในปีนี้เป็นวิทยาการสาขาเคมี วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้ได้รับรางวัลโนเบลกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากนานาประเทศ ซึ่งในปัจจุบันได้มุ่งเน้นผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มเยาวชน นักศึกษา และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงจากทั่วโลก

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเข้าร่วมการประชุม Nobel Laureate Meeting 2017 และทรงร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านวิทยาศาสตร์ ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับ สภาการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล โดย Countess Bettina Bernadotte,มูลนิธิการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล มูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล และมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นบันทึกความร่วมมือเป็นครั้งที่ 4 มีระยะเวลา 3 ปี (ค.ศ. 2018 - 2020) โดยประเทศไทยสามารถส่งนักศึกษา นักวิทยาศาสตร์ และ/หรือนักวิจัย ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึงระดับหลังปริญญาเอก เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวได้ปีละ 6คน

ดร.เมทินี จรรยาสุภาพ เป็นหนึ่งใน 6 ของทีมนักวิทยาศาสตร์คนรุ่นใหม่จากประเทศไทย มีความเชี่ยวชาญด้านเคมีไฟฟ้า ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การเดินทางครั้งนี้ "ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในประเทศไทยเพื่อดำเนินการร่วมกับคณะผู้จัดงานประชุม Nobel Laureate Meeting 2017 ณ เมืองลินเดา ประเทศเยอรมนี ในการคัดเลือกเยาวชนและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม Nobel Laureate Meeting 2017 มีเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 3 ประการ คือ 1.การให้ความรู้ (Educating) 2.การสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiring) และ 3.การเชื่อมโยงเครือข่าย (Connecting) "

"ดิฉันได้รับคุณค่าและประสบการณ์จากการเข้าร่วมการประชุม Nobel Laureate Meeting 2017 จุดประกายให้เราไม่ย่อท้อต่อการทำงานและวิจัยพัฒนางานวิทยาศาสตร์เพื่อสังคมไทยและโลกส่วนรวม ได้เปิดโลกทัศน์และโอกาสเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆ จากประสบการณ์จริงของผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่มานำเสนอผลงานในการประชุมจำนวนมาก ในงานได้พบและมีโอกาสพูดคุยกับผู้ที่ได้รางวัลโนเบลหลายท่าน เช่น ศ.ดร.ปีเตอร์ เอเกอร์(Peter Agre) ผู้ที่ได้รางวัลโนเบลปี 2003 สาขาเคมี เรื่อง การค้นพบโปรตีนที่ควบคุมการไหลผ่านของน้ำเข้า – ออก ระดับเซลล์ ซึ่งดิฉันจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Case Western Reserve University, USA ที่เดียวกับท่าน นับเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้จากนักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่สู่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ นอกจากนี้ยังได้พบกับ ศ.ดร.เออิจิ เนกิชิ (Ei-ichi Negashi) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลปี 2010 สาขาเคมี เรื่อง การค้นพบตัวเร่งปฏิกิริยาจากธาตุพาเลเดียม ได้เรียนรู้และเปิดรับข้อคิดคำแนะนำ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลปีนี้ และนักวิจัยรุ่นใหม่จากทั่วโลก เกิดการสร้างเครือข่ายกับนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมงาน

กิจกรรมและบรรยากาศการประชุม Nobel Laureate Meeting 2017 เต็มไปด้วยความอบอุ่นและมิตรภาพ ได้นั่งรับประทานอาหารเย็นกับ ศ.ดร.อัฟราม เฮิร์ชโก (Avram Hershko) และภรรยา ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลปี 2004 สาขาเคมี เรื่อง การค้นพบโปรตีนยูบิควิตินที่ช่วยย่อยสลายโปรตีนที่ใช้งานในร่างกายให้กลับสู่กลไกการสร้างใหม่ อีกทั้งได้พูดคุยกับ ศ.ดร.เบอร์นาร์ด เฟอริงกา (Benard Feringa) อย่างใกล้ชิด ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ปี 2016 ในการออกแบบเครื่องจักรโมเลกุล ทีมไทยจะนำความรู้มาใช้ประโยชน์พัฒนาต่อยอด ถ่ายทอดและจุดประกายให้กับบุคคลในสังคมไทยต่อไป เช่น เยาวชน ครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา นักวิจัยและผู้สนใจ

วิถีโลกยุค 4.0 เราต้องพัฒนาสังคมและประเทศชาติด้วยความรู้ให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน ทำให้นึกถึงพระบรมราโชวาทของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี "...การพยายามศึกษาวิทยาการและเทคโนโลยีอันก้าวหน้าทุกสาขาจากทั่วโลก แล้วเลือกสรรส่วนที่สำคัญเป็นประโยชน์ นำมาปรับปรุงใช้ให้พอดีพอเหมาะกับสภาพและฐานะของประเทศเรา เพื่อช่วยให้ประเทศของเราสามารถนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้พัฒนางานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่สิ้นเปลือง..."

HTML::image(