สำหรับธีมการแข่งขัน RDC2017 ในปีนี้คือ "รัชกาลที่ ๙ กับการเกษตร" มีน้องๆ นิสิตนักศึกษาสนใจสมัครเข้าร่วมมากถึง 220 คน จาก 30 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยแบ่งการแข่งขันรอบคัดเลือกไปใน 4 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ/ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออก/ ภาคใต้ และภาคกลาง ตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนเหลือผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้งสิ้น 78 คน แบ่งออกเป็น 16 ทีมๆ ละ 5 คน แบบคละสถาบันการศึกษา ซึ่งในรอบเก็บตัวปีนี้มีความพิเศษกว่าทุกปี โดยผู้จัดได้แบ่งการอบรมออกเป็น 2 ส่วนคือ ภาคทฤษฎีใช้เวลาเพียง 2 วันเพื่อเสริมทักษะด้านการออกแบบและเขียนโปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำงานและเคลื่อนที่อัตโนมัติตามพื้นฐานของการสร้างหุ่นยนต์ ก่อนนำผู้แข่งขันทั้งหมดไปเก็บตัวที่ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.น่าน เพื่อสัมผัสประสบการณ์จริงที่เป็นต้นแบบสาธิตการพัฒนาด้านการเกษตรที่ยั่งยืนทฤษฎีใหม่ตามแนวทางพระราชดำริและการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเยาวชนทุกคนจะได้ลงมือเป็นเกษตรกรจริงในทุกขั้นตอนเพื่อนำประสบการณ์มาพัฒนาและต่อยอดเข้ากับการสร้างหุ่นยนต์ให้ตรงกับโจทย์ของการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ
โดย นายพีระพงษ์ พิณวานิช ผู้จัดการโครงการแข่งขัน RDC 2017 ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้กล่าวถึงธีมโจทย์ในปีนี้ว่า "เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชการที่ ๙ ทรงพระราชทานแนวทางการจัดการเกษตรทฤษฎีใหม่ให้กับเกษตรกรไทย จึงเลือกโจทย์ให้ผู้แข่งขันได้ระดมทักษะความสามารถมาใช้ในการสร้างหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพและช่วยส่งเสริมการเกษตรได้ ปีนี้ทางโครงการจึงพาน้องๆเยาวชน ไปสัมผัสประสบการณ์จริงที่ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.น่าน เพราะทุกคนจะได้มีส่วนร่วมและมีประสบการณ์ภาคสนามได้ลงมือปลูกข้าว เก็บพืช เลี้ยงวัว ฯลฯ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและเกิดไอเดียในการนำมาประยุกต์กับการสร้างหุ่นยนต์ให้เหมาะกับการใช้งานในภาคเกษตรกรรมอย่างแท้จริง และด้วยพลังของน้องๆเยาวชน เหล่านี้จะสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาในอนาคตต่อไปได้"
ด้าน ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ดูแลการเก็บตัวเวิร์คช็อปและอบรมเยาวชนในครั้งนี้กล่าวเสริมว่า "จากประสบการณ์ที่ได้ไปสัมผัส ทำให้เด็กๆ มีไอเดียนำมาประยุกต์กับสิ่งที่เรียน และปีนี้ผู้จัดฯ ให้อิสระในการดีไซน์ออกแบบหุ่นยนต์ไม่จำกัดขนาด และจำนวน เน้นตอบโจทย์การใช้งาน ซึ่งเป็นการจำลองการทำเกษตรจากพื้นที่จริง โดยต้องสร้างจากวัสดุตั้งต้นที่กำหนดให้ อุปกรณ์เหมือนกัน แตกต่างเรื่องไอเดียและเทคนิคด้านการดีไซน์และการเขียนโปรแกรม ปีนี้จะพบว่าเยาวชนที่เข้าร่วมมีศักยภาพที่สูงขึ้นหลายคนเรียนการเขียนโปรแกรมสมองกล และออกแบบมาแล้วจึงนำมาใช้เต็มที่ทำให้การสร้างหุ่นยนต์เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยการแข่งขันแต่ละทีมจะมีเวลาจำกัดเพียง 150 วินาที ที่ต้องบังคับหุ่นยนต์ให้ทำภารกิจถึง 4 อย่าง ทั้ง กำจัดวัชพืช ปลูกต้นไม้ ขนนำไปเก็บให้สัมพันธ์กับจำนวนพืชที่ปลูก และการทำปุ๋ยจากมูลสัตว์และวัชพืช เหล่านี้ล้วนมีคะแนน และยังมีคะแนนพิเศษที่เรียกว่าบิงโก เมื่อทำภารกิจได้ตามที่กำหนด ความยากของการแข่งขันคงเป็นเรื่องของหุ่นยนต์ที่ต้องควบคุมได้อย่างที่ต้องการและแม่นยำรวมถึงการวางแผนการทำงานของแต่ละทีมที่จะต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจ เทคนิคและไหวพริบในการแก้ปัญหาจึงจะทำให้ไปสู่เป้าหมายของชัยชนะได้"
นายอติวิชญ์ กาญจนเวนิช นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชายานยนต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนจากกลุ่มสวนป่า ได้เผยถึงแรงบันดาลใจในการสร้างหุ่นยนต์หลังจากกลับมาจากจังหวัดน่าน ว่า "การไปลงพื้นที่ทำให้ได้ทราบสัมผัสกับปัญหาที่เกษตรกรต้องเจอ และเมื่อคุยกันในกลุ่มก็กลับมาออกแบบหุ่นยนต์ที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆได้ โดยชูเทคนิคออโตเมชั่นทำให้เป็นอัตโนมัติ หุ่นตัวแรกจะใช้ในการตักน้ำโดยเฉพาะ ส่วนหุ่นตัวที่สองจะใช้สำหรับเก็บวัชพืชกับปลูกต้นกล้าซึ่งจะขนต้นกล้าไว้บนหุ่นยนต์ในครั้งเดียวให้หมดทั้ง 30 ต้น ซึ่งจะทำให้รวดเร็วไม่ต้องเสียเวลาโหลดใหม่และมีความแม่นยำในการทำงานที่สูง เป็นโอกาสดีที่ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ได้เรียนรู้เรื่องใหม่และยังมีทักษะที่นำไปใช้ได้ในอนาคตครับ"
และนางสาวนพรัตน์ อดุลจิต นักศึกษาชั้นปีที่3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ผู้แทนจาก กลุ่มหญ้าแฝกเสริมอีกว่า "เป็นประสบการณ์ที่ดีที่ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆจากต่างสถาบัน และยังมีโอกาสนำวิชาที่เรียนมาในสาขาคอมพิวเตอร์มาใช้ในการออกแบบหุ่นยนต์ โดยจุดแข็งของหุ่นของทีมคือ ให้หุ่น 1 ตัว ไม่จำกัดแค่หน้าที่เดียวแต่สามารถทำงานได้ 3 หน้าที่ ทั้งตักน้ำ ถอนวัชพืชและปลูกต้นกล้าทำให้เพิ่มประสิทธิภาพเหมือน 3 แรง และประสบการณ์ในครั้งนี้จะนำไปใช้ต่อยอดความรู้ในอนาคตได้อย่างแน่นอนค่ะ
ร่วมติดตามชมและเชียร์เยาวชนคนเก่งทั้ง 78 คน ใน "การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10" รอบชิงชนะเลิศ (Robot Design Contest 2017, RDC2017) ในวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2560 เวลา 13.00 -16.00 น. ณ ลานชั้น 1 ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ประตูน้ำ
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit