สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ 02-986-9156 หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th
รศ. ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า จากโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลไทยอย่าง 'ไทยแลนด์ 4.0' ที่มุ่งผลิตฐานกำลังผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. เป็นหนึ่งในหน่วยงาน ภาคการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีที่โดดเด่น เพื่อผลิตเยาวชนวิทย์ให้มีศักยภาพในขั้นสูง ดำเนิน'โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย หรือ โครงการ วมว. เพื่อรองรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูง โดยนักเรียนดังกล่าวจะได้รับการสอน ตลอดจนสามารถผลิตผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป โดยที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. มีเยาวชนในโครงการฯ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 90 คน ซึ่งสามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมเป็นจำนวนมาก อาทิ ชุดโดรนติดตามสภาพอากาศและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และ ไซรัปกล้วย ที่ไร้สารให้ความหวาน หนุนรายได้ชาวสวนกล้วยไทย เป็นต้น
ดร. วสิศ ลิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ได้บูรณาการศาสตร์ความรู้ทั้งด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฟิสิกส์ วงจรไฟฟ้า และชีววิทยา สอนองค์ความรู้แก่นักเรียนในโครงการ วมว. และได้ร่วมกันพัฒนาเป็นนวัตกรรม "ตู้เย็นโดเรมอนเพาะเห็ดโตเร็ว" ด้วยต้นทุนตั้งต้นเพียง 1 หมื่นบาท แต่สามารถก้าวสู่เงินล้านได้ จากผลผลิตที่เติบโตเร็วกว่าปกติถึง 18% ในเวลาประมาณ 60-75 วันหรือประมาณ 2 เดือนถึง 2 เดือนครึ่ง แต่ยังคงรสชาติและสรรพคุณที่ครบถ้วน โดยที่ผู้ใช้งานทำหน้าที่เพียงติดตาม และควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงเพาะเห็ดควบคุม-สั่งการผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าว เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างระบบทำความเย็น (ตู้เย็น) และระบบควบคุม-สั่งการใน 2 ส่วนสำคัญ (ซึ่งติดตั้งบริเวณด้านหลังของตู้เย็น) คือ
1. ระบบชุดควบคุม ทำหน้าที่ควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในกล่องเพาะเห็ดให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ซึ่งภายในระบบจะประกอบด้วย ไมโครคอนโทลเลอร์ (Microcontroller) ทำหน้าที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต สะพานไฟ (Relay) ทำหน้าที่เปิดและปิดระบบทำความเย็นและความชื้น ทรานซิสเตอร์ (Transistor) ทำหน้าที่ควบคุมไฟหลอดแอลอีดีที่ใช้ในระบบกล่องเห็ดอัจฉริยะ โดยทีมผู้พัฒนาได้เลือกใช้แสงสีชมพู เนื่องจากเป็นสีที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเห็ดถั่งเช่าสีทองได้เป็นอย่างดี และ เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้น (Sensor) ซึ่งมีสัญญาณออกแบบดิจิตอลที่มีความแม่นยำสูง โดยสามารถวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -40 องศา ถึง 80 องศา
2. ระบบประมวลผล (Server) ทำหน้าที่รับข้อมูลสถานะอุณหภูมิและความชื้นจากชุดควบคุม เพื่อทำการประมวลผลค่าของอุณหภูมิว่าตรงกับค่าที่ได้กำหนดหรือไม่ จากนั้นจึงทำการสั่งเปิด-ปิดระบบต่างๆ ของชุดควบคุม ซึ่งค่าต่างๆ ที่กำหนดจะรับมาจากเว็บเบราว์เซอร์ และเซิร์ฟเวอร์ยังส่งข้อมูลสถาะนะของกล่องเห็ดอัจฉริยะในรูปของตัวอักษรและกราฟในทันที รวมถึงเก็บข้อมูลของคำสั่งวันเวลาและสถานะลงฐานข้อมูล พร้อมแสดงผลในรูปเส้นกราฟ โดยใช้โปรแกรมบนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ทีมงานได้พัฒนาขึ้น ซึ่งสามารถตั้งโปรแกรมการเพาะปลูกเห็ดเพื่อควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และแสงให้เหมาะกับชนิดและอายุของเห็ด
ทั้งนี้ นวัตกรรม "ตู้เย็นโดเรมอนเพาะเห็ดโตเร็ว" ใช้เวลาในการเพาะประมาณ 60-75 วัน ซึ่งภายในสามารถบรรจุขวดโหลเห็ดถั่งเช่าสีทอง ได้ประมาณ 30 ขวด หรือคิดเป็นปริมาณ 500 กรัม แต่สามารถทำกำไรได้ประมาณ 2,000 บาทต่อรอบ จากต้นทุนตั้งต้นหลักหมื่นบาท ที่สามารถควบคุมดูแลเองได้โดยไม่ต้องจ้างแรงงานคน ซึ่งจากผลสำเร็จของการใช้ระบบดังกล่าว ทำให้เห็ดถั่งเช่าสีทองเติบโตได้มากกว่าปกติ โดยเฉลี่ย 15 มิลลิเมตร หรือประมาณ 17.78% โดยนวัตกรรมดังกล่าว อยู่ระหว่างการยื่นจดอนุสิทธิบัตรและดำเนินการพัฒนาต่อในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม "เห็ดถั่งเช่าสีทอง" ถือเป็นเห็ดสายพันธุ์หนึ่งที่มีสรรพคุณช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง อีกทั้งยังช่วยปรับสมดุลในร่างกายได้ตามความเชื่อของชาวจีน เนื่องจากประกอบด้วยสารคอร์ไดเซปินเป็นส่วนใหญ่ ตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพได้เป็นอย่างดี จึงเป็นผลให้ปัจจุบันมีราคาต่อกิโลกรัมสูงถึง 60,000 – 100,000 บาท อีกทั้งยังเกิดกลุ่มธุรกิจและผู้ประกอบการจำนวนมาก
ด้าน นายโศธนะ วิชาเรือง เยาวชนในโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมคิดค้นนวัตกรรม "ตู้เย็นโดเรมอนเพาะเห็ดโตเร็ว"กล่าวว่า จากการเข้าร่วมโครงการ วมว. เป็นเวลากว่า 2 ปี นับตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ทำให้ตนได้รับความรู้มากมาย ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่เข้มข้นกว่าการเรียนในชั้นมัธยมฯ ปลาย เนื่องจากรูปแบบการสอนของโครงการฯ ดังกล่าว จะเทียบเท่ากับการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งช่วยให้ตนสามารถเข้าใจในเรื่องต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์ ที่โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องซับซ้อน แต่อาจารย์ที่นี่มีเทคนิคช่วยจำที่แปลกใหม่ คือ สามารถอธิบายความซับซ้อนเหล่านั้น ให้เข้าใจได้ง่ายเพียงแค่วาดรูป ซึ่งในขณะเดียวกัน ยังเปิดโอกาสให้ทำการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยตนเอง อาทิ ทดลองกลั่นสารเคมีเพื่อศึกษาสารประกอบ ทดลองผ่าสัตว์เพื่อศึกษาอวัยวะในส่วนต่างๆ และทดลองประกอบวงจรไฟฟ้าเพื่อศึกษาการเติบโตของพืช เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการ วมว. ถือเป็นโครงการที่ทำให้ตนมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีที่กว้างยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ 02-986-9156 หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th
HTML::image( HTML::image( HTML::image(