ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ เริ่มจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ "โครงการสัตวแพทย์อาสาอาเซียน" มาตั้งแต่ปี 2556 โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนอย่างดีมาตลอดจากภาคเอกชนอย่างซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำด้านเกษตรกรอุตสาหกรรมและอาหาร ที่มีอุดมการณ์เดียวกันคือ การมุ่งยกระดับการเป็นผู้นำและเสริมศักยภาพสาขาวิชาชีพสัตวแพทย์ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรและนิสิต เพื่อให้คณะสัตวแพทยศาสตร์มีส่วนช่วยขับเคลื่อนอุดมศึกษาไทยสู่อาเซียน และยังเป็นการสร้างโอกาสให้บุคลากรและนิสิตได้มีส่วนในการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนให้มีความเข้มแข็งไปพร้อม ๆ กัน
"ขอขอบคุณซีพีเอฟที่ร่วมสนับสนุนโครงการฯให้ประสบความสำเร็จตลอดมา ทำให้คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ม.เกษตรฯ กลายเป็นศูนย์กลาง หรือ HUB ของสัตวแพทย์อาเซียนตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ทุกปีมีนักศึกษาสัตวแพทย์ในอาเซียนรอคอยที่จะร่วมโครงการนี้ และโครงการยังได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกภาคส่วนมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประชุมคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์สถาบันการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน ต่างให้ความสนใจและเสนอตัวเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม และผลักดันให้เป็นโครงการต่อเนื่องทุกปี
ด้าน ศ.น.สพ.ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตร กล่าวว่า โครงการสัตวแพทย์อาสาอาเซียน เป็นการเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ของ มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศในเขตอาเซียนจำนวน 30 คน ได้เข้ามาฝึกปฏิบัติงานจริง ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงศูนย์เรียนรู้และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของซีพีเอฟ สำหรับโครงการในปีที่ 5 นี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 17 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม ศกนี้ นอกจากจะมีซีพีเอฟสนับสนุนสถานที่ฝึกงานเช่นเคยแล้ว ยังได้รับความอนุเคราะห์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ University of Veterinary Science สาธารณรัฐเมียนมาร์ ให้ใช้สถานที่นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริง
"โครงการนี้มีส่วนสำคัญในการตอบสนองกลยุทธ์และแผนพัฒนาของคณะสัตวแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้านการเป็นผู้นำในการให้บริการทางวิชาการสัตวแพทย์ระดับชาติและนานาชาติ และเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้ระดับนานาชาติ ด้วยการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการเป็นผู้นำพัฒนาด้านการศึกษาในสาขาสัตวแพทย์ และเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อนสัตวแพทย์ในอาเซียนที่เข้มแข็ง" ศ.น.สพ.ดร.อภินันท์ กล่าว
ส่วน นายเอนก บุญหนุน รองประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการสนับสนุนด้านการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการสัตวแพทย์อาสาอาเซียนที่มุ่งส่งเสริมความเข้าใจที่ดีให้กับบุคลากรและนิสิตในระบบการศึกษา และวิชาชีพสัตวแพทย์ในกลุ่มอาเซียน ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายพันธมิตร และเผยแพร่ศักยภาพความเป็นผู้นำในสาขาวิชาสัตวแพทย์ ซีพีเอฟจึงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี สำหรับปีนี้บริษัทมอบเงินจำนวน 1,500,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรม
"ปัจจุบันซีพีเอฟ ได้ขยายการลงทุนในอาเซียนจนครบเกือบทุกประเทศ ยกเว้นบรูไน ขณะเดียวกันก็ขยายการลงทุนในประเทศนอกอาเซียนควบคู่กันไปด้วย เมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาในภูมิภาคอาเซียนได้พัฒนาทักษะความสามารถเช่นนี้ ซีพีเอฟจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมสนับสนุน และร่วมมือกัน โดยเฉพาะการเปิดครัวโลกของบริษัทให้เป็นแหล่งศึกษาและพัฒนาแก่นักศึกษาในโครงการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุดมศึกษาไทยสู่อาเซียนร่วมกับม.เกษตรฯ ทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสให้บุคลากรและนิสิตได้มีส่วนในการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนให้มีความเข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน" นายเอนก กล่าว
"โครงการสัตวแพทย์อาสาอาเซียน" ถือเป็นรากฐานการพัฒนาที่สำคัญ เกี่ยวกับสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health ให้กับเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน โดยคัดเลือกนิสิตสัตวแพทย์ชั้นปีที่ 4-6 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ร่วมกิจกรรมฝึกอบรม (Internship Program) ระยะเวลา 1 เดือน ด้วยกิจกรรมเรียนรู้ทั้งในภาคทฤษฎี ได้แก่ ด้านสุขภาพสัตว์ การดูแล การป้องกัน เน้น One Health Program ด้านอาหารให้กับมนุษย์ และด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนภาคปฏิบัตินักศึกษาจะได้เข้าฝึกงาน ณ โรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตรฯ และเข้าศึกษาดูงานด้านอาหารปลอดภัยของซีพีเอฟ พร้อมออกปฏิบัติงานอาสาพัฒนาชนบท ณ สาธารณรัฐเมียนมาร์
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit