สภาปัญญาสมาพันธ์ เผย 5 ยุทธ์ศาสตร์การสร้างชาติไทยให้มั่นคงและยั่งยืน ระบุต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม แนะรัฐบาลไทยกำหนดยุทธศาสตร์และวางกลยุทธ์ประเทศให้มีความเหมาะสมสามารถนำไปใช้งานได้จริงและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ได้แก่ 1. กลยุทธ์ต้องเข้าใจได้ง่าย (Simplification Strategy) 2. กลยุทธ์การร่วมมือกัน (Collaboration Strategy) 3. กลยุทธ์กระจายอำนาจ (Decentralization Strategy) 4. กลยุทธ์ด้านระบบดิจิตอล (Digitalization Strategy) และ 5. กลยุทธ์การมองจากภายนอก (Outward-looking Strategy) ย้ำแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบของสังคมโลก ต้องใช้ "หลักนิติธรรม" (The Rule of Law) ประกอบด้วย 1. กฏหมายต้องถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์กับคนในประเทศโดยสถาบันที่มาจากการเลือกตั้ง 2. ต้องมีความเสมอภาคในการใช้กฏหมาย 3. ผู้บังคับใช้กฏหมายต้องเป็นกลาง และ 4. ต้องมีกระบวนการยุติธรรมและรัฐธรรมนูญที่ดี ควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพภายใต้กฏหมาย
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตเพื่อการพัฒนา และประธานสถาบันการสร้างชาติ เปิดเผยว่า ประเด็นสำคัญที่ควรตระหนักเพื่อการสร้างชาติให้มั่นคงและยั่งยืน คือการกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับพัฒนาประเทศ โดยคำนึงถึงโครงสร้างและความซับซ้อนของโลกปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากปัจจัยในหลายๆ ด้าน ได้แก่
1. ความหลากหลายของมนุษย์ ทั้งด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ สังคม เพศ และภาษา
2. การพึ่งพาอาศัยซึ่งกัน เนื่องจากการดำเนินนโยบายของประเทศใดประเทศหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นได้อย่างง่ายดาย
3. ความคลุมเคลือด้านข้อมูลข่าวสาร เพราะข้อมูลจำนวนมากได้ทำให้เกิดความสับสนหรือความขัดแย้ง
และ 4. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการที่รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์และวางกลยุทธ์ที่ถูกต้องและเหมาะสม ในทางปฏิบัติจะสามารถพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้าได้อย่างไม่ยากนัก
โดยหากดูตัวอย่างประเทศใกล้เคียงที่ประสบความสำเร็จ เช่น ประเทศสิงคโปร์ และประเทศเกาหลีใต้ จะเห็นว่าทั้งสองมีการกำหนดยุทธศาสตร์และจัดวางกลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศที่ดีมาก ปัจจุบันสิงคโปร์จึงกลายเป็นศูนย์กลางในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่เกาหลีใต้ซึ่งในอดีตเคยมีดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว(GDP) เท่ากับประเทศไทย แต่ปัจจุบันดัชนีดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าไทย 4-5 เท่า อันเป็นผลมากจากการส่งเสริมและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างจริงจัง
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์และวางกลยุทธ์ของประเทศไทย เพื่อให้มีความเหมาะสมสามารถนำไปใช้งานได้จริงและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดนั้น จำเป็นต้องพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่
1. กลยุทธ์ต้องเข้าใจได้ง่าย (Simplification Strategy) เพื่อลดความไม่แน่นอนและช่วยผู้ที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์สถานการณ์และตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เช่น นโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยน
2. กลยุทธ์การร่วมมือกัน (Collaboration Strategy) โดยเพิ่มการสื่อสารให้มากขึ้นระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสัมคม เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์และภาคธุรกิจ
3. กลยุทธ์กระจายอำนาจ (Decentralization Strategy) เพื่อช่วยให้การตัดสินใจนโยบายภาครัฐเกิดประสิทธิผลมากขึ้น เช่น การกระจายอำนาจด้านการศึกษาให้โรงเรียนต่างจังหวัด ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
4. กลยุทธ์ด้านระบบดิจิตอล (Digitalization Strategy) โดยนำเอาระบบดิจิตอลมาช่วยการจัดอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความซับซ้อนและจำนวนคนที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบการตรวจคนเข้าเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การทำงานสะดวกมากขึ้น
และ 5. กลยุทธ์การมองจากภายนอก (Outward-looking Strategy) โดยภาครัฐควรใช้นโยบายเชิงรุกในเวทีระหว่างประเทศ เช่น การเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งการรวมกลุ่มระหว่างประเทศ เป็นต้น
ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.โฮเซ สเตลเล่ ผู้เขียนหนังสือ 'บทเล็คเชอร์ที่จีน' กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความเคารพสิทธิมนุษยชน ความโอบอ้อมอารี ความมีมิตรภาพ ความอดทนที่ลดลง โดยเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นล่วนมีอิทธิพลมาจากแรงกดดันหลัก 2 ประการ ได้แก่
1. ระบบสังคมนิยม ที่ถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยแนวความคิดตามหลักประชาธิปไตยที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่คำนึงถึงอุดมการณ์ ไม่คำนึงถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น และท้ายที่สุดเกิดการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหง ซึ่งถือเป็นทางออกเดียวสำหรับปัญหาหรือภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
2. แรงกดดันอื่นที่คล้ายกับระบบสังคมนิยม โดยมีจุดกำเนิดมาจากสภาพแวดล้อมทางจิตใจทางศาสนาและส่งผลให้เกิดความรุนแรงขึ้น
ทั้งสองประเด็นมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือการมีอำนาจเหนือบุคคลทั่วไป เพื่อทำลายสิทธิเสรีภาพทางความคิด และล้มล้างระบอบการไต่สวน หรือกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องอาศัย "หลักนิติธรรม" (The Rule of Law) ประกอบด้วย
1. กฏหมายต้องถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์กับคนในประเทศโดยสถาบันที่มาจากการเลือกตั้ง
2. ต้องมีความเสมอภาคในการใช้กฏหมาย
3. ผู้บังคับใช้กฏหมายต้องเป็นกลาง
และ 4. ต้องมีกระบวนการยุติธรรมและรัฐธรรมนูญที่ดี ควบคู่กับการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพภายใต้กฏหมาย เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขในสังคม ซึ่งในทางปฏิบัติจะก่อนให้เกิดความสามัคคีและประเทศชาติที่เข้มแข็ง
ทั้งนี้ สภาปัญญาสมาพันธ์ ได้ร่วมกับ สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา สถาบันการสร้างชาติ และ University of London จัดงานสัมนาวิชาการนานาชาติ "การสร้างสรรค์ชาติ ประจำปี 2560 : แนวทางการสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม อย่างยั่งยืน" (International Conference on Nation-Building 2017: Innovative Solutions for Sustainable Economic, Political and Social Development) โดยได้รับเกียรติ จาก นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อพัฒนาประเทศชาติให้ยั่งยืน ผ่านเสียงสะท้อนและมุมมองนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากในและต่างประเทศ ระบุว่าการจัดประชุมในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาประเทศชาติให้ยั่งยืน อันเป็นผลมาจากการศึกษาวิจัยอย่างรอบด้านจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ โดยนำมากำหนดเป็นข้อเสนอแนะและกรอบการทำงาน ซึ่งโดยสรุปแล้วจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลสรุปจากการประชุมในครั้งนี้ จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศชาติ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด เมื่อเร็วๆ นี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สภาปัญญาสมาพันธ์ (WISDOM COUNCIL) โทรศัพท์ 084-522-4424อีเมล: [email protected]หรือเข้าไปที่ http://www.wisdomcouncilthailand.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit