นางวารัทชญา อรรถอนุกูล คุณแม่หัวใจแกร่ง หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ "ท้องปลอดโรค ลูกปลอดภัย" เล่าว่า ตนกับสามีแต่งงานและอยากมีลูกมาก จนในที่สุดก็ตั้งครรภ์ลูกคนแรก พอไปเจาะน้ำคร่ำคุณหมอบอกว่า ลูกในท้องมีภาวะเสี่ยงเป็นโรคธาลัสซีเมีย ต้องยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งตอนนั้นเราก็เสียใจมาก แต่ในที่สุดก็ตั้งครรภ์ได้อีกครั้ง โดยไปเจาะน้ำคร่ำเหมือนเดิม และคุณหมอแจ้งว่า ลูกคนนี้ไม่มีความเสี่ยงเป็นโรคธาลัสซีเมีย ตลอดการตั้งครรภ์คุณแม่ก็สุขภาพแข็งแรงดี จนถึงเวลาคลอด น้องเกิดมามีสุขภาพแข็งแรง มีพัฒนาการเหมือนเด็กคนอื่นๆ เราก็โล่งใจคิดว่าทุกอย่างคงผ่านไปด้วยดี
"แต่แล้วหัวใจคนเป็นพ่อแม่อย่างเราก็แตกสลาย เมื่อจู่ๆ น้องภาคิณ อรรถอนุกูล หรือน้องคิณ มีอาการ ตัวซีด ป่วยบ่อย เหนื่อยง่าย ร่างกายไม่แข็งแรง ฟันผุ และที่สำคัญพัฒนาการทางร่างกายของน้องต่างจากเด็กวัยเดียวกันมาก คือ น้องจะตัวเล็ก เป็นเด็กขี้โรค 3 วันดี 4 วันป่วย จึงตัดสินใจพาลูกไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลอย่างละเอียด ตอนนั้นเหมือนฟ้าผ่าลงกลางใจเราเลย คุณหมอบอกว่า น้องคิณป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งน้องจะอยู่กับเราได้แค่ 10ขวบ เท่านั้น ตอนได้ฟังคุณหมออธิบายถึงอาการของลูก ยอมรับว่าช็อคมาก เพราะตอนท้องเราก็ตรวจอย่างละเอียด มีเอกสารทางการแพทย์ยืนยันว่าลูกเราปกติ"
คุณแม่สุดแกร่ง เล่าต่อว่า เมื่อทราบว่าลูกป่วยเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ ทางครอบครัวได้ปรึกษากับคุณหมอถึงแนวทางการรักษา ซึ่งคุณหมอบอกว่าต้องรักษาตามอาการ เพื่อรอการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ตอนนั้นเรามีความหวังว่าลูกจะหาย ตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อมาดูลูก เพราะลูกต้องเดินทางไปเติมเลือดที่โรงพยาบาลทุกๆ 2สัปดาห์ เราต้องเดินทางจากพะเยาไปเชียงใหม่ เลือดที่ใช้ต้องเป็นเลือดพิเศษซึ่งหายากมาก ค่าใช้จ่ายในการรักษาตอนนั้นถือว่าแพงมาก แต่ต้องอดทนเพื่อลูก ต้องแบกภาระหนี้สิน เอาทรัพย์สินที่มีอยู่ไปจำนอง เพื่อนำเงินมาใช้ในการรักษาลูก ระหว่างการรักษาน้องต้องเข้าไอซียูหลายครั้ง มันเป็นความรู้สึกเจ็บปวดทรมานมาก ที่เราไม่สามารถช่วยลูกได้ รักษาอยู่ 2 ปี จนคุณย่าของน้องนั่งดูทีวีรายการหนึ่ง พบโครงการ "ท้องปลอดโรค ลูกปลอดภัย" ของศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. เป็นโครงการช่วยลดความเสี่ยงการมีบุตรไม่ให้เป็นโรคทางพันธุกรรม เพื่อให้เด็กที่เกิดมาปลอดโรค ซึ่งต้องบอกว่าครอบครัวเราโชคดีมากที่ได้มาเจอโครงการนี้ โดยทางศูนย์ฯ ได้ใช้เทคโนโลยีในการคัดกรองตัวอ่อนและจับคู่เนื้อเยื่อที่ตรงกัน เพื่อให้คุณแม่ให้กำเนิดบุตรอีกหนึ่งคน แล้วนำเซลล์ต้นกำเนิดจากบุตรคนน้องนำไปปลูกถ่ายรักษาบุตรคนพี่ได้ เพราะเด็กที่เกิดมาได้ผ่านกระบวนการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย และผ่านกระบวนการตรวจความเข้ากันของเนื้อเยื่อมาแล้ว ทำให้ครอบครัวเราไม่ต้องสูญเสียน้องภาคิณไป และยังสามารถรักษาโรคธาลัสซีมียได้หายขาดด้วย
ด้าน แพทย์หญิงวีณา ครุฑสวัสดิ์ ผู้อำนวยการแพทย์และสูตินารีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์การมีบุตรยาก ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที กล่าวว่า ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) คือโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่ถอด
ทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ที่เป็นพาหะหรือเป็นโรคไปสู่ลูก ทำให้เกิดความผิดปกติในการสร้างโปรตีนสำคัญในเม็ดเลือดแดง นำไปสู่ภาวะโลหิตจางหรือภาวะซีด ปัจจุบันพบว่า คนไทยเป็นพาหะของโรคนี้สูงถึง 30% และพบเด็กป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียที่ต้องได้รับการรักษาโดยการถ่ายเลือดสูงถึงปีละ 10,000 คน สำหรับการรักษาให้หายขาดนั้น สามารถทำได้โดยการปลูกถ่ายไขกระดูกด้วยสเต็มเซลล์ที่ปลอดโรคและมีเนื้อเยื่อที่เข้ากันได้เท่านั้น ซึ่งโอกาสที่จะหาผู้บริจาคสเต็มเซลล์ที่ไม่ใช่พี่น้องกันแต่มีเนื้อเยื่อที่เข้ากันได้มีเพียงประมาณ 1:30,000 ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ร่วมกับการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมและการตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อในตัวอ่อน จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการเพิ่มโอกาสสำเร็จในการรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดได้
"น้องคิณ-ภาคิณ อรรถอนุกูล" หนุ่มน้อยวัย 8 ปี ที่ผ่านภาวะวิกฤตกับโรคธาลัสซีเมียมาหลายต่อหลายครั้งจนหายขาด เล่าปิดท้ายว่า ตอนที่น้องคิณไม่สบาย แม่ต้องเหนื่อยมาก ต้องนั่งรถจากพะเยามากรุงเทพฯ บ่อยๆ บ้างครั้งผมก็ต้องเข้าไอซียู ผมกลัวมาก มันเจ็บปวดเหมือนจะตาย ตอนที่อยู่ในห้องไอซียู "ผมเคยถามพยาบาลว่า ผมจะได้เจอหน้าแม่อีกมั้ย" เพราะตอนนั้นผมมองไม่เห็นอะไรเลย เห็นแต่แสงสีส้มๆ ได้ยินเสียงแม่ แต่ผมมองไม่เห็นหน้าแม่ ผมกลัวมากๆ ครับ แต่ตอนนี้ผมหายแล้ว สามารถไปโรงเรียน ไปเล่นกับเพื่อนๆ ไม่ต้องเจ็บอีกแล้วครับ ผมขอขอบคุณ คุณหมอและเจ้าหน้าที่ทุกคนของศูนย์ซูพีเรียฯ ที่ช่วยผมและครอบครัวครับ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit