ตามหลักการของ ธปท. ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยมีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ 1-4% แต่ในปี2015 และ 2016 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพียง -0.9% และ 0.2% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่ลดลงเฉลี่ยกว่า 45% และ 11% ตามลำดับ (เฉลี่ยต่อเดือนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 เดือนแรกของ ปี 2017 ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยกว่า 30% แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับไม่พุ่งสูงขึ้นมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 0.8%
หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อโดยตัดผลของราคาน้ำมันและอาหารสดออกไป หรือที่เรียกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน จะพบว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยลดลงมาอยู่ที่ 0.7% ในปี 2016 จากระดับ 1.1% ในปี 2015 และ ใน 5 เดือนแรกของปี 2017 ก็เฉลี่ยเพียง 0.6% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ลดต่ำลงนั้นอาจมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ โดยการบริโภคและการลงทุนในภาคเอกชนที่เป็นองค์ประกอบหลักของจีดีพี ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2.7% และ หดตัว 0.9% อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2002-2004 ที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้สูงมาก เฉลี่ย 7% และ 16.7% อีกทั้งราคาน้ำมันก็เพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 20% แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกลับเฉลี่ยเพียง 0.3%
ดังนั้น อุปสงค์ภายในประเทศจึงไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการกำหนดอัตราเงินเฟ้อ แต่ยังมีปัจจัยเชิงโครงสร้างขององค์ประกอบอัตราเงินเฟ้อเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น หากพิจารณาหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักถึง 24% ของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (16% หากหักน้ำมันเชื้อเพลิงออก) จะพบว่ามีองค์ประกอบย่อยหลายอย่างที่ราคาไม่ปรับขึ้นหรือใช้เวลานานในการปรับขึ้นตามอุปสงค์ เช่น ค่าขนส่งสาธารณะ ค่าจดทะเบียนและประกันภัย ที่มีภาครัฐให้การสนับสนุนอยู่เพื่อไม่ให้ผู้บริโภครับภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางที่สูงเกินไป ค่าซื้อรถยนต์และอุปกรณ์รถยนต์ที่ค่อนข้างคงที่ โดยราคารถยนต์นั้นถึงแม้อุปสงค์จะเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถขึ้นราคาได้มาก เนื่องจากราคาเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว โดยเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา ราคารถยนต์เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% ต่อปี ในขณะที่ราคาอุปกรณ์รถยนต์มีการปรับเพิ่มขึ้นไปแล้วในช่วงที่ต้นทุนสูงและยังไม่ได้มีการปรับลง ทำให้ในช่วงนี้ที่ต้นทุนยังต่ำอยู่ ผู้ประกอบการยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับราคาขึ้นอีก
ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยและเฉลี่ยที่ 51.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะเฉลี่ยที่ 1% ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อธปท. จึงมองว่า ธปท. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าจะเริ่มมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในปีหน้า จากแรงกดดันดอกเบี้ยเฟดที่หากเป็นไปตามที่เฟดคาด จะไปอยู่ที่ 2-2.25% ณ ปลายปี 2018 ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายไทย กอปรกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของอุปสงค์ในประเทศ แต่จะเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับ 50-55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และโครงสร้างขององค์ประกอบย่อยของเงินเฟ้อบางองค์ประกอบที่ไม่ได้ปรับตามกลไกตลาดได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเตรียมรับมือกับยุคดอกเบี้ยขาขึ้นที่จะเริ่มในปีหน้า
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit