งานเทศกาลบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปี 2560

28 Jun 2017
งานเทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปี 2560 กิจกรรมปลูกฝังการเป็นนักวิทย์ปฐมวัย ภายใต้แนวคิด "บ้านแห่งอนาคต"
งานเทศกาลบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปี 2560

มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ (มศว.) และกลุ่มบริษัท บี.กริม จัดงาน "เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปี 2560" ภายใต้หัวข้อ "บ้านแห่งอนาคต" เน้นการส่งเสริมและพัฒนาเด็กปฐมวัย (อายุ 3 – 6 ปี) ได้เรียนรู้และสร้างประสบการณ์ ฝึกการสังเกต คิดวิเคราะห์ พร้อมตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตนเองอย่างสนุกสนาน ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พร้อมจัดกิจกรรมเปิดเทศกาลฯ ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 สิงหาคม 2560

ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การที่เด็กและเยาวชนจะสามารถสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาได้เท่าทันต่อสิ่งรอบตัวนั้นเป็นสิ่งสำคัญ วิทยาศาสตร์ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนในการสร้างทักษะเหล่านี้ กระทรวงศึกษาธิการเอง ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในทุกระดับชั้น จึงได้มีการส่งเสริมให้โรงเรียนในสังกัดเข้าร่วมโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์ เพราะเล็งเห็นว่าโครงการฯ จะสามารถเข้ามาช่วยเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้และเพิ่มทักษะด้านวิทยาศาสตร์ให้กับกลุ่มเด็กปฐมวัย ด้วยการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่มาจากประสบการณ์ตรง ปลูกฝังให้รู้จักช่างสังเกต ตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ซึ่งกระบวนการคิดแบบเป็นระบบนี้ หากเราสมารถปลูกฝั่งให้เกิดกับเด็กปฐมวัยได้ เด็กเหล่านี้จะเติบโตไปเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต

ด้าน นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพการจัดงานในส่วนของภาคกลางว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มีภารกิจหลักในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งการสื่อสารเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ สู่สังคม เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ การวางรากฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กตั้งแต่วัยเยาว์จึงมีความสำคัญยิ่ง ในการปลูกฝังเด็กให้เติบโตไปพร้อมกับวิทยาศาสตร์ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย จึงถือว่าเป็นเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็ก รู้จัก เข้าใจ และสามารถนำประโยชน์จากการเรียนรู้นี้ไปดำเนินชีวิตต่อไปในสังคมได้

สำหรับ "เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปี 2560" ภายใต้หัวข้อ "บ้านแห่งอนาคต" ในส่วนของภาคกลางรับผิดชอบจัดกิจกรรมโดย จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน กรุงเทพฯ ได้แบ่งฐานกิจกรรมออกเป็น 4 ฐานประกอบด้วย ฐานที่ 1. นักก่อสร้างตัวน้อย : ให้เด็กๆ ทดลองสร้างบ้านแบบง่าย ๆ จากอุปกรณ์ที่มี ฐานที่ 2.เรามาขนส่งสินค้ากันเถอะ : ให้เด็กๆ ลองจัดสิ่งของลงกระเป๋าหรือลงกล่องให้เป็นระเบียบและได้จำนวนมากที่สุด ฐานที่ 3.หนีร้อน : ให้เด็กๆ หาวิธีทำให้ห้องหรือสิ่งของที่ได้รับมีอุณหภูมิเย็นลง ฐานที่ 4.โรงบำบัดน้ำเสีย : ให้เด็กๆ ทำเครื่องกรองน้ำง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยจากฐานกิจกรรมเด็กๆ จะได้เรียนรู้พื้นฐานในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่หลากหลายสำหรับเด็กปฐมวัย ให้เกิดประสบการณ์และสร้างจินตนาการที่ไร้ขอบเขต และจะเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต

คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานกรรมการ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เปิดเผยว่า "โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เป็นโครงการที่เราจัดกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เราได้ตระหนักถึงปัญหาของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเด็กไทย ที่ผ่านมาไม่ได้รับการพัฒนาทักษะอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ปัจจุบันเกิดการ ขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ทำการศึกษาโครงการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยในประเทศเยอรมนี จากมูลนิธิ "Haus der Kleinen Forscher"(หรือมูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย) และได้นำโครงการดังกล่าวมานำร่องเป็นต้นแบบในประเทศไทย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเยาวชน เป้าหมายสำคัญเพื่อปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ และเอกชน 8 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) และกลุ่มบริษัท บี.กริม"

ปัจจุบันได้ดำเนินโครงการเข้าสู่ปีที่ 7 ซึ่งได้ขยายผลสู่ 16,605 โรงเรียนทั่วประเทศ ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 230 แห่ง โดยมีกิจกรรมอบรมครู พัฒนาสื่อการเรียนการสอน และทำกิจกรรมสู่กลุ่มครอบครัว ในปีนี้เราจัดกิจกรรมภายใต้หัวข้อ "บ้านแห่งอนาคต" เพราะถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคุณครูที่จะพานักเรียนเริ่มต้นทำกิจกรรมสำรวจอย่างจริงจัง ให้เด็กๆ ได้ตั้งข้อสงสัย กบสิ่งที่รอบตัว และวิเคราะห์สิ่งต่างๆด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับเด็กที่จะเติบโตเป็นเยาวชนที่ดีในอนาคต เราจึงจัดกิจกรรมสร้างประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานให้ครูและเด็กๆได้ตั้งคำถาม ฝึกการสังเกตและหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน

นางสุดคนึง ขัมภรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรัพยากรมนุษย์ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มบริษัท บี.กริม หนึ่งในภาคีเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนโครงการ "เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย" อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ด้วยเล็งเห็นว่ากลุ่มบริษัทฯ ประกอบไปด้วยบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม จึงนำแนวคิดดังกล่าวเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ที่ บี.กริม ดำเนินธุรกิจอยู่ โดยเป็นผู้นำเครือข่าย ซึ่งปีนี้เข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว ซึ่งเครือข่ายกลุ่มบริษัท บี.กริม จะแบ่งออกเป็น 4 พื้นที่ ซึ่งจะอยู่บริเวณโดยรอบรัศมีของโรงไฟฟ้า ได้แก่ บางกระดี ระยอง ชลบุรี และเกาะลันตา โดยปัจจุบันมีโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์แล้วกว่า 200โรงเรียน สำหรับบทบาทการเป็นผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น ถือเป็นหน่วยงานหลักของโครงการในภูมิภาคต่างๆ ที่มีหน้าที่ดูแลโรงเรียนอนุบาลที่เข้าร่วมโครงการ และจะเป็นจุดเชื่อมระหว่างสำนักงานโครงการและโรงเรียนอนุบาลต่างๆ และทำหน้าที่ลงพื้นที่พบปะ ทำงานร่วมกับผู้ที่มีบทบาททางด้านการศึกษา และต้องเชื่อมโยงให้มีการทำงานหลายๆ องค์กร สร้างเครือข่ายโรงเรียนที่สนใจให้เข้าร่วมกิจกรรม และสร้างเครือข่ายอาสาสมัครที่สนใจให้เข้ามามีส่วนร่วม การดำเนินงานจะมีจัดอบรมเชิงปฎิบัติการให้แก่ครูในโรงเรียนเครือข่ายปีละ 2 ครั้ง และมอบชุดทดลองจำนวน 20 ชุดให้กับทางโรงเรียน และโรงเรียนจะต้องมีการจัดทำโครงการทดลองจำนวน 2 โครงการ โดยจะต้องมีการรวบรวมผลการจัดทำรายงาน เพื่อประเมินคุณภาพโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์การประเมินผลจะได้รับตราพระราชทานบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นับเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม ตลอดจนครู ผู้ปกครอง ในการร่วมกันพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย

"เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปี 2560" จะจัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2560 โดยแบ่งออกเป็น 5 ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดเลย ภาคตะวันออก จัดโดย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดสระแก้ว ภาคเหนือ จัดโดย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดน่าน ภาคใต้ จัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา และภาคกลาง โดย จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน กรุงเทพฯ ทั้งนี้ขอเชิญชวนโรงเรียนอนุบาล และศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ มาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวฯ สำหรับผู้สนใจ สามารถดูรายละเอียด และดาวน์โหลดเนื้อหา คู่มือการจัดกิจกรรมได้ในเว็บไซต์ www.littlescientistshouse.com และ www.nsm.or.th

งานเทศกาลบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปี 2560 งานเทศกาลบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปี 2560 งานเทศกาลบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปี 2560