นานมีบุ๊คส์ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จับมือ 3 ประเทศโดดเด่นด้านการศึกษา ร่วมแบ่งปันแนวทางการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนเพื่อสร้าง Active Citizen

26 Jun 2017
การพัฒนาคนในสังคมให้ปฏิบัติตนโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ในสังคมที่ซับซ้อนนี้ จะให้ประสบความสำเร็จและยั่งยืนคงต้องอาศัยกระบวนการอบรมกล่อมเกลาทางสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงสังคม แต่ความท้าทายในยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง บทบาทของโรงเรียนในฐานะที่เป็นองค์หลักที่จัดการด้านการศึกษา ควรเป็นไปในทิศทางใด เพื่อปลุกปั้นเด็กและเยาวชนให้กลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมพร้อมทั้งการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย
นานมีบุ๊คส์ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จับมือ 3 ประเทศโดดเด่นด้านการศึกษา ร่วมแบ่งปันแนวทางการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนเพื่อสร้าง Active Citizen

นานมีบุ๊คส์ ในฐานะองค์กรส่งเสริมการอ่าน และการเรียนรู้ที่ดำเนินธุรกิจด้วยความเชื่อมั่นมายาวนานถึง 25 ปี มองเห็นโอกาส ที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้แข็งแกร่งได้ต้องส่งเสริมให้เด็กเป็น "Active Citizen คนเก่ง คนดี รับผิดชอบต่อตนเอง ต่อสังคม" ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ประเทศมหาอำนาจทางการศึกษาทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ นำมาปรับใช้และได้ผลลัพธ์อันยอดเยี่ยม จึงได้เปิดเวทีเชิญผู้บริหารโรงเรียนของประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับวิทยากรจากประเทศที่โดดเด่นในการจัดการศึกษา ได้พบกันในงานสัมมนา "บทบาทของโรงเรียนในการจัดการเรียนรู้ที่มีความหมาย ได้ผลจริง เพื่อสร้าง Active Citizen คนเก่ง คนดีรับผิดชอบต่อสังคม" โดยจะจัดขึ้นวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฏาคม 2560 เวลา 08.30-15.00 น. ณ อาคารนานมีบุ๊คส์เฮ้าส์ (สุขุมวิท 31)

คิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า "เรื่องการสร้างคนให้เป็น Active Citizen ฟังดูเหมือนง่าย แต่จะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรมนั้นยาก แต่ดิฉันเชื่อว่า ยังมีผู้บริหารอีกหลายคนไม่ยินดีกับค่านิยมและระบบในปัจจุบัน แต่บางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะไปสู้กับค่านิยมสังคมอย่างไร จะเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างไร ดิฉันจึงขอใช้โอกาสที่นานมีบุ๊คส์ ครบรอบ 25 ปี จัดงานสัมมนาพิเศษนี้ โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจาก 3 ประเทศมาร่วมแบ่งปัน"

ท่านแรก คือ Mr. Avshalom Komissar ผู้อำนวยการโรงเรียน Hadera Democratic จากประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นโรงเรียนประชาธิปไตยแห่งแรกของอิสราเอล อยู่ในเครือข่ายโรงเรียนประชาธิปไตยของโลก เขาลงมือทำงานจริง ฉะนั้นเราจะได้ทราบถึงแนวคิดการจัดการศึกษาของโรงเรียนประชาธิปไตยคืออะไร พวกเราจะใช้ระบบการบริหารแบบโรงเรียนประชาธิปไตยในโรงเรียนปกติได้อย่างไร และจะมีวิธีการจัดการเรียนการสอนเพื่อช่วยให้เด็กรู้จักตัวตนของตัวเองและมีเป้าหมายในชีวิตได้อย่างไร หากผู้บริหารโรงเรียนของไทยได้แลกเปลี่ยนกัน น่าจะเข้าใจแนวคิดที่จะไปต่อยอดได้

ท่านที่สอง คือ Dr. David Klett ผู้บริหารของเคลตต์กรุ๊ป จากประเทศเยอรมนี องค์กรที่ทำงานด้านการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และที่สำคัญ มี passion กับประเทศไทยมาก เขาเพิ่งพาคณะผู้บริหารโรงเรียนจากประเทศไทยไปเยี่ยมชมโรงเรียนที่ได้รับรางวัล German School Prize ณ ประเทศเยอรมนี และมีความเข้าใจสถานภาพของโรงเรียนไทย เพราะฉะนั้น การแลกเปลี่ยนในส่วนนี้จะมีความหมายมาก

และท่านสุดท้าย มาทางสาย Education Technology คือ Mr.Ray Douse จากวิซซ์เอดูเคชัน องค์กรที่สร้างระบบจัดการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อพัฒนาศักยภาพเป็นรายบุคคล จากประเทศอังกฤษ ซึ่งมีแนวคิดจัดการเรียนรู้ที่ต่างจากสายเยอรมัน ที่เชิญมาเพราะเทรนด์ของโลกปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้ แต่หลายปีที่ผ่านมา เห็นหลายโรงเรียนนำเทคโนโลยีเข้าไปในโรงเรียนแบบผิดๆ ถูกๆ จึงเชิญให้คนทำงานที่พิสูจน์ผลงานมาแล้ว จากการได้รางวัลจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นครั้งที่สองหมาดๆ มาแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นที่กล่าวถึงมาที่สุด คือ วิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญมากในการสร้างระบบวิธีคิดให้กับคนคิม กล่าวเสริมอีกว่า "พวกเราออกแบบวิธีการเรียนรู้ในงานครั้งนี้ให้เป็นเชิง interactive โดยช่วงเช้า จะได้เรียนรู้จากวิทยากรหลักทั้ง 3 ท่าน หลังจากนั้นผู้บริหารโรงเรียนสามารถเลือกได้ว่าสนใจประเด็นไหนเป็นพิเศษ ก่อนจะเปิดโอกาสให้เลือกว่าช่วงบ่ายจะไปเจาะลึกในหัวข้อใด โดยเลือกได้ 2 ประเด็น และจะเป็นการคุยกันแบบโต๊ะกลม ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าฟังเฉย ๆ แน่นอน"

พร้อมทิ้งท้ายว่า "ประโยชน์ของงานนี้คือ ได้แลกเปลี่ยนกับคนที่ทำมาแล้ว และมีกรณีศึกษาในหลายประเทศ หลายบริบท ดิฉันจึงขอเชิญผู้บริหารโรงเรียนที่มีแนวคิดเดียวกันว่าต้องเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะท่านที่ยินดีจับมือเป็นเครือข่ายกับคนที่คิดคล้ายกัน มาร่วมงานสัมมนานี้ อย่างน้อยพวกเราเป็นคนกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่ง ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับระบบการศึกษาไทยได้เลย"

ก่อนจะสร้างเด็กให้เป็น Active Citizen ผู้ใหญ่ควรเริ่มต้นที่เป็นแบบอย่างให้เด็กเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่า หากคุณเห็นความสำคัญขอเชิญมาร่วมกันปฎิวัติสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้ระบบการศึกษาไทย ในงานสัมมนา "บทบาทของโรงเรียนในการจัดการเรียนรู้ที่มีความหมาย ได้ผลจริง เพื่อสร้าง Active Citizen คนเก่ง คนดีรับผิดชอบต่อสังคม" จะจัดขึ้นวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฏาคม 2560 เวลา 08.30-15.00 น. ณ อาคารนานมีบุ๊คส์เฮ้าส์ (สุขุมวิท 31) เปิดรับสมัครเข้าร่วมงานฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้บริหารโรงเรียนที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสมัครเข้าร่วมสัมมนาที่ คุณนิตยา และคุณชัญญา โทร. 0-2662-3000 ต่อ 4425, 5226 หรือ www.nanmeebooks.com

นานมีบุ๊คส์ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จับมือ 3 ประเทศโดดเด่นด้านการศึกษา ร่วมแบ่งปันแนวทางการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนเพื่อสร้าง Active Citizen