นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม รวมถึงการขยายตัวของชุมชน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยในรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะอุบัติภัยจากการทำงาน อุบัติภัยจากการคมนาคม ทั้งทางน้ำ ทางอากาศ และระบบราง สร้างความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันอุบัติภัยและการสร้างระบบความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล พร้อมมอบหมายให้คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) จัดทำนโยบายและแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ สำหรับใช้เป็นกรอบการดำเนินงานป้องกันอุบัติภัยแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ได้ขับเคลื่อนการจัดการอุบัติภัยอย่างครอบคลุมทุกมิติ ผ่านคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ จำนวน 8 คณะ มุ่งเน้นการยกระดับการป้องกันอุบัติภัยให้มีมาตรฐานสากล การปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยแก่ประชาชน การสร้างชุมชนปลอดภัย (Safety Community) อย่างยั่งยืน และการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย (Safety Culture) ในสังคมไทย ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยรองรับการพัฒนาประเทศตามนโยบาย "Thailand 4.0" ของรัฐบาล
นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันอุบัติภัยให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน เพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ในวันที่ 26 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรม เอส.ดี.อเวนิว กรุงเทพมหานคร โดยผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วย อนุกรรมการและเลขานุการ 8 คณะ เจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ซึ่งมีการบรรยายในหัวข้อ "บทบาทและทิศทางการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันอุบัติภัยให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืนเพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 4.0" และการอภิปรายในหัวข้อ "การเสริมบทบาท และศักยภาพด้านการป้องกันอุบัติภัยเพื่อประเทศไทยปลอดภัย (Safety Thailand) อย่างยั่งยืน" โดยผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นในการปรับปรุงโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ และวางแนวทางการดำเนินงานภายใต้แผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ถือเป็นเป็นกระบวนการสำคัญในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างกลไกการป้องกันอุบัติภัยเชิงนโยบายในระดับประเทศให้มีเอกภาพ และประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคู่กับการขับเคลื่อนแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติให้เป็นรูปธรรม รวมถึงปรับปรุงโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และภารกิจของคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งจะได้นำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากการประชุมฯ ไปใช้ในการพิจารณา กำหนดทิศทาง นโยบาย และยุทธศาสตร์การป้องกันอุบัติภัยของประเทศ พร้อมปรับปรุงแผนหลักการป้องกันอุบัติแห่งชาติให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัย บริบทของสังคมไทย และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ถือเป็นการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลภายใต้วาระ "ประเทศไทยปลอดภัย (Safety Thailand)" รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบาย "Thailand 4.0" ให้บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การสร้างประเทศไทยให้มีความ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit