ด้วยวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในการดูแลเด็กที่มีภาวะออทิสติก อย่างเช่น ที่สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ได้เปิดให้บริการคลินิกพิเศษ 3 คลินิก ได้แก่ 1. คลินิกพิเศษเพื่อวินิจฉัยภาวะออทิสติกด้วยเครื่องมือADOS-2 (Autism Diagnostic Observation Schedule) ซึ่งเป็นสถาบันแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการวินิจฉัยภาวะออทิสติก โดยเครื่องมือมาตรฐานและมีหลักฐานประกอบการวินิจฉัย ที่มีความละเอียดและแม่นยำ ใช้เวลา ภายในเวลา 30-45 นาที โดยในชุดกิจกรรม จะประกอบด้วย สถานการณ์จำลองให้เด็กได้ปฏิบัติและมีการบันทึกพฤติกรรมอย่างละเอียดและมีการให้คะแนนตามการแปลผลของ ADOS แล้วนำไปเทียบอิงกับเกณฑ์มาตรฐานการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ปัจจุบัน มีการใช้เครื่องมือ ADOS-2 ในการวินิจฉัยภาวะออทิสติกมากกว่า 10 ปี มีจำนวนเด็กทั้งสิ้น 721 ราย
โดยรายที่อายุน้อยที่สุดที่สามารถให้การวินิจฉัยได้ คือ 13 เดือน ส่งผลให้เด็กได้รับการรักษาแบบเข้มข้นตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งนี้ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านภาษา สังคมและพฤติกรรมที่ดีขึ้น ตลอดจนมีระดับสติปัญญาที่สูงขึ้นใกล้เคียงกับปกติ และจากประสบการณ์ในการเปิดคลินิกพิเศษวินิจฉัยภาวะออทิสติก ขณะนี้จึงได้พัฒนาเครื่องมือวินิจฉัยภาวะออทิสติกที่เป็นของประเทศไทยเอง คือ เครื่องมือ TDAS (Thai Diagnostic Autism Scale) เพื่อจะได้วินิจฉัยและช่วยเหลือเด็กไทยได้อย่างทั่วถึง 2.คลินิกการสื่อสารทางเลือก (Augmentative and Alternative Communication: AAC) นำเอาวิธีการอื่นมาใช้สนับสนุนทักษะการพูดของคนที่มีความบกพร่องให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อาจเป็นระบบที่ไม่ต้องมีองค์ประกอบอื่น เช่น ภาษามือ และสีหน้า ท่าทาง รวมถึงการใช้วิธีการสื่อสารที่มีตัวช่วยเป็นองค์ประกอบ เริ่มตั้งแต่การใช้รูปภาพ จนถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงรวมถึงการใช้คอมพิวเตอร์ที่ปัจจุบันมีตัวเลือกหลากหลาย และ 3.คลินิกส่งเสริมพัฒนาการด้านการสื่อสารในเด็กออทิสติกโดยใช้ระบบแลกเปลี่ยนภาพ (Picture Exchange Communication System : PECS) ซึ่งเป็นการสื่อสารเสริมหรือสื่อสารทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้ทดแทนให้กับเด็กที่พูดไม่ได้หรือได้น้อยให้มีช่องทางสื่อสารอื่นแทนคำพูดเพื่อสื่อสารบอกความต้องการกับผู้อื่นได้ ช่วยลดความเครียดจากการที่คนอื่นไม่เข้าใจตนเองได้
ซึ่งหัวใจสำคัญที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านการสื่อสารด้วย PECS ดีขึ้น คือ การที่ผู้ปกครองต้องมีความมุ่งมั่นอดทนในการฝึกอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กล่าวเสริมว่า ข้อดีของวิธีนี้ คือ เป็นวิธีที่เข้าใจง่ายและใช้ได้ง่าย เด็กสามารถบอกความต้องการของตนได้ตรงและชัดเจน ผู้ใหญ่สามารถตอบสนองเด็กได้ตรงจุด ซึ่งการตอบสนองอย่างถูกต้องถือเป็นแรงเสริมให้เด็กอยากสื่อสารมากขึ้น เด็กเป็นฝ่ายเริ่มต้นการสื่อสาร ทำให้เด็กเข้าหาคนมากขึ้น วัสดุที่ใช้มีราคาถูกและทำได้ไม่ยาก และเด็กสามารถสื่อสารกับคนอื่นๆได้ คนอื่นสามารถเข้าใจรูปภาพที่เด็กยื่นให้และตอบสนองความต้องการของเด็กได้และไม่จำเป็นต้องเสียเวลาสอนวิธีสื่อสารนี้แก่คนอื่น โดยวิธีการฝึก ได้แก่ 1.การให้ความรู้ผู้ปกครองให้เข้าใจว่า PECS คืออะไร จะช่วยเด็กได้อย่างไร มีขั้นตอนการฝึกอย่างไรและให้ดูตัวอย่างเด็กที่ใช้ PECS สำเร็จและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ 2.ประเมินแรงเสริมที่เด็กต้องการในขณะนั้นแล้วเตรียมภาพและเริ่มฝึกขั้นที่ 1 โดยเน้นให้ผู้ปกครองฝึกลูกได้ 3.สอนผู้ปกครองทำภาพ และให้การบ้านไปฝึกลูกต่อเนื่องที่บ้าน และ 4.นัดมาติดตามอาการ ถ้าเด็กมีความสามารถผ่านเกณฑ์ก็จะสอนขั้นต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit