รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามแผนการผลิตและตลาดข้าวครบวงจรและแผนปฏิบัติงานเกษตรอินทรีย์ พร้อมพบปะเกษตรกร ณ จังหวัดยโสธร และจังหวัดร้อยเอ็ด

27 Jun 2017
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรและแผนปฏิบัติงานเกษตรอินทรีย์ พร้อมพบปะเกษตรกร ณ จังหวัดยโสธร และจังหวัดร้อยเอ็ด ว่า การลงพื้นที่ดังกล่าว ได้มีการประชุมติดตามการดำเนินงานในเรื่องข้าวครบวงจร นาแปลงใหญ่ และเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินการนาแปลงใหญ่จะทำให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ ส่งผลให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยกระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการในรูปแบบโครงการประชารัฐ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ระดับต้นทางถึงปลายทาง เกษตรกรต้องมีการรวมตัวกันในการผลิตข้าวคุณภาพทั้ง GAP และข้าวอินทรีย์ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการผลิตมีส่วนช่วยให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ อาทิ การรับซื้อข้าวจากโครงการนาแปลงใหญ่ในราคานำตลาด
รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามแผนการผลิตและตลาดข้าวครบวงจรและแผนปฏิบัติงานเกษตรอินทรีย์ พร้อมพบปะเกษตรกร ณ จังหวัดยโสธร และจังหวัดร้อยเอ็ด

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นถึงศักยภาพการผลิตข้าวอินทรีย์ของภาคอีสาน จึงมีความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร มีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวอินทรีย์โดยผลักดันผ่านโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่ เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกร ในประเด็นดังต่อไปนี้

1. พื้นที่ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์มาก่อน

2. หากเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่ม PGS มีความสนใจสามารถเข้าร่วมโครงการนาอินทรีย์ได้ โดยไม่ต้องออกจากกลุ่มเดิม

3. เกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องการมาตรฐานสากล เช่น IFOAM USDA หรือ EU สามารถเข้าร่วมโครงการนาอินทรีย์ได้ โดยกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ถ้าผ่านการตรวจสอบ จะได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (Organic Thailand) นอกเหนือจากการรับรองตามมาตรฐานสากลของกลุ่ม

การทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกร เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี และสารเคมี อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้ด้วย