สจล. เดินหน้าหนุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรม “ป้องกันการก่อการร้าย” ชู 2 ผลงาน “หุ่นยนต์กู้และตรวจหาระเบิด” – “เสื้อเกราะกันกระสุน” เล็งต่อยอดเชิงพาณิชย์

27 Jun 2017
· สจล. ผนึกวิศวกรคอมพิวเตอร์ - วิศวกรป้องกันประเทศ ดันงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมป้องกันการก่อการร้าย หวังช่วยยกประสิทธิภาพการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย พร้อมลดภาระงบประมาณนำเข้ายุทโธปกรณ์ราคาสูงจาก ตปท.
สจล. เดินหน้าหนุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรม “ป้องกันการก่อการร้าย” ชู 2 ผลงาน “หุ่นยนต์กู้และตรวจหาระเบิด” – “เสื้อเกราะกันกระสุน” เล็งต่อยอดเชิงพาณิชย์

เหตุการณ์ความไม่สงบจากการก่อการร้ายทั่วโลกนับวันยิ่งทวีความรุนแรง และมีท่าทีขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายครั้งความรุนแรงได้สร้างความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้บริสุทธิ์ นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจและความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิต หากโฟกัสเฉพาะในประเทศไทยทุกวันนี้ไม่เฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น ที่เกิดเหตุความไม่สงบทั้งการลอบวางระเบิดหรือยิงปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ไม่หวังดีเท่านั้น แต่ได้ลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั้งประเทศ โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาข่าวการพบวัตถุต้องสงสัย หรือเกิดเหตุระเบิดในพื้นที่กรุงเทพมหานครขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในโรงพยาบาลเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ได้สร้างความสะเทือนใจให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากโรงพยาบาลถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่ควรเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบและสถานการณ์รุนแรงข้างต้น สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเปิดสอนในสาขาวิศวกรรมป้องกันประเทศ ตั้งแต่ปี 2555 ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำองค์ความรู้ ไปประยุกต์และพัฒนาเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับช่วยบรรเทาผลกระทบและป้องกันเหตุด่วนเหตุร้ายอย่างทันท่วงที ซึ่งในทางปฏิบัติไม่เพียงช่วยเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตให้กับคนไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย ที่ผ่านมา สจล. จึงให้การสนับสนุนและส่งเสริมบุคลากรและนักศึกษา ในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อภารกิจดังกล่าว โดยผลงานวิจัยและพัฒนาที่เข้ากับสถานการณ์ในช่วงนี้ ได้แก่ 1. หุ่นยนต์สำหรับการเก็บกู้วัตถุระเบิดและตรวจสอบหาระเบิดแบบไม่สัมผัส ผลงานอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และ 2. เสื้อเกราะกันกระสุนที่พัฒนาให้เข้ากับรูปร่างของคนไทยเพื่อความคล่องตัว และสอดรับกับภารกิจเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้สวมใส่ ผลงานสาขาวิศวกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งผลงานทั้งสองสามารถพัฒนาต่อยอดและผลิตในเชิงพาณิชย์ ภายใต้ต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ ในภาพรวมจึงช่วยประหยัดงบประมาณการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงของประเทศได้

นายนิมิต หงส์ยิ้ม นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ผู้ออกแบบ "หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดและตรวจสอบหาระเบิดแบบไม่สัมผัส" (Robot for Bomb Disposal and Contactless Explosive Detector) กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีการลอบวางระเบิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ 1. ตรวจพบสิ่งของต้องสงสัยที่ยังไม่ทราบว่าเป็นสารระเบิด และ 2. การเก็บกู้และเคลื่อนย้ายระเบิด จึงได้ร่วมกับ รศ.ดร.สมศักดิ์ มิตะถา อาจารย์สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และ นายสรยุทธ กลมกล่อม ออกแบบหุ่นยนต์ที่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทั้ง 2 เหตุการณ์ โดยทีมพัฒนามีวัตถุประสงค์หลักในการนำไปเป็นต้นแบบการผลิตยุทโธปกรณ์ ในราคาที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศทดแทนการเสี่ยงชีวิต ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภายใต้รูปแบบการทำงานที่ง่ายและไม่ซับซ้อน ซึ่งจุดเด่นของหุ่นยนต์ตัวนี้ที่แตกต่างจากหุ่นยนต์ EOD ทั่วไป คือการติดอุปกรณ์เพื่อส่งข้อมูลจากตัวตรวจจับต่างๆ กลับมายังชุดควบคุม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกู้และตรวจหาระเบิดได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถนำไปประกอบเข้ากับอุปกรณ์รับรู้กลิ่น ซึ่งเป็นผลงานของอาจารย์ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตรวจหาสารระเบิดและอาวุธเคมีซึ่งเป็นรูปแบบการก่อการร้าย รูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปัจจุบันได้อีกด้วย

สำหรับรูปแบบการทำงานของหุ่นยนต์นั้น นายนิมิต อธิบายว่าแบ่งออกเป็น 4 ระบบ คือ

1. ระบบขับเคลื่อน โดยใช้ล้อสายพานแบบ Differential Track Drive สามารถทำมุมเลี้ยวรอบตัวโดยการที่ Track หมุนสลับทิศทางสามารถวิ่งบนพื้นผิวนุ่มหรือแข็งได้หลายแบบ พร้อมมีระบบป้องกันการลื่นไหลขณะปีนป่าย และติดตั้งกล้องความละเอียดสูงระดับ HD เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ในเวลากลางคืน ในระยะ 15 เมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ 10 กม./ชม.

2. ระบบรับส่ง-สัญญาณควบคุม ระหว่างสถานีควบคุมกับตัวหุ่นยนต์แบบไร้สาย ผ่านระบบความถี่ 2.4 GHz พร้อมระบบเข้ารหัสป้องกันการรบกวนสัญญาณ และป้องกันการส่งข้อมูลผิดพลาด digital modulation ควบคู่กับการติดตั้งระบบรักษาระดับความเร็วในการหมุนมอนิเตอร์อย่างนุ่มนวล เพิ่มความสะดวกในการควบคุมระยะไกลด้วย Joystick

3. ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง ขนาด 12 โวลต์ 16.8 แอมแปร์ พร้อมติดตั้งระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS)สามารถปฏิบัติงานต่อปกติได้ 2 ชม. ปฏิบัติงานหนักต่อเนื่อง 30 นาที

4. ระบบแขนกล ติดตั้งได้หลากหลายรูปแบบ โดยสามารถเปลี่ยนให้เหมาะสมกับรูปแบบการปฏิบัติงานได้ทันที หรือทำหน้าที่เป็นหุ่นยนต์สำรวจโดยไม่ต้องติดตั้งแขนกลก็ได้

5. ระบบการส่งข้อมูลจากหุ่นยนต์ เป็นเครื่องมือที่สามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้ง่ายขึ้น โดยระบบทำหน้าที่เป็นตัวสื่อสารแจ้งข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นให้ผู้ใช้ง่ายทราบในเวลานั้น เช่น GPS ปริมาณแบตเตอรี่ ท่าทางของแขนหุ่นยนต์จากภาพจากกล้องของหุ่นยนต์ เป็นต้น โดยการแสดงข้อมูลต่างๆ นั้น จำเป็นต้องแสดงข้อมูลทั้งหมดให้ใกล้เคียงกับเวลาจริงมาที่สุด โดยการส่งข้อมูลระยะไกลถือเป็นระบบที่สำคัญ ต้องทำการออกแบบให้เข้าใจและใช้งานง่าย

"นอกจากการพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีประสิทธิภาพการเก็บกู้ หรือเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดและตรวจสอบหาสารระเบิด โดยการเพิ่มฟังชั่นการส่งข้อมูลจากตัวหุ่นยนต์กลับมายังศูนย์ควบคุมแล้ว จุดเด่นของหุ่นยนต์ตัวนนี้ยังอยู่ที่ราคาในการผลิตที่ถือว่าถูกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศมาก โดยสามารถทำได้ในต้นทุนประมาณตัวละ 4 แสนบาท หรือต่ำกว่านี้หากนำไปผลิตจำนวนมาก ขณะที่ราคาตลาดทั่วไปอยู่ที่ตัวละประมาณ 1.2 ล้านบาท ส่วนแผนการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานในขั้นต่อไปนั้น ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังพัฒนาระบบทำลายระเบิด ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เชื่อว่าหุ่นยนต์ตัวนี้จะช่วยยกประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนได้ดียิ่งขึ้น" นายนิมิตร กล่าว

ด้าน ผศ.พลศาสตร์ เลิศประเสริฐ อาจารย์หลักสูตรวิศวกรรมป้องกันประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ผู้มีประสบการณ์ด้านความมั่นคงและยุทโธปกรณ์ภาคสนามในจังหวัดชายแดนใต้กว่า 10 ปี หัวหน้าโครงการพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนให้เข้ากับรูปร่างของคนไทยเพื่อความคล่องตัว และสอดรับกับภารกิจเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้สวมใส่ กล่าวว่า เสื้อเกราะกันกระสุนมีความสำคัญมากสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในภารกิจที่เสี่ยงอันตรายเพราะเป็นอุปกรณ์ช่วยป้องกันการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ปัญหาที่พบในปัจจุบันเมื่อซื้อหรือนำเข้าเสื้อเกราะจากต่างประเทศ คือความไม่พอดีซึ่งเป็นผลจากรูปร่างและสัดส่วนที่ต่างกันของคนไทยกับชาวต่างชาติ แม้จะเป็นที่ยอมรับว่ามีมาตรฐานการผลิตที่ดีและแข็งแรงคงทนทาน แต่เมื่อนำมาใช้กับเจ้าหน้าที่ไทยจะไม่คล่องตัวจึงส่งผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติภารกิจ ทีมพัฒนาจึงผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนให้เหมาะกับรูปร่างและสัดส่วนของคนไทย โดยในเบื้องต้นได้แบ่งการผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนออกเป็น 2 แบบ คือ 1. สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เน้นดีไซน์ให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่มากที่สุด โดยการลดพื้นที่ปกปิดเล็กน้อยในส่วนที่ไม่จำเป็น แต่เพิ่มความหนาเพื่อความปลอดภัยมากขึ้นในการรับแรงกระสุน และ 2. สำหรับผู้บริหารระดับสูง เน้นดีไซน์ในลักษณะปกปิดชนิดเกราะอ่อนหรือแบบเสื้อกั๊กเพื่อให้สามารถใส่ทับด้านใน เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง

ทั้งนี้ จากการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันของเสื้อเกราะกันกระสุนทั้ง 2 แบบ พบว่าแม้ตัวเสื้อเกราะจะมีน้ำหนักเบากว่าปกติ จากการใช้เส้นใยสังเคราะห์อารามิดคุณภาพสูงนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในยุโรปและอิสราเอล แต่สามารถผ่านมาตรฐานตามข้อบังคับของ National Institute of Justice หรือ NIJ ในระดับ 3A สามารถป้องกันกระสุนขนาด 9 มม. พาราฯ แบบ FMJ ที่มีหัวกระสุนหนัก 124 เกรนและมีความเร็วไม่เกิน 1,400 ฟุต/วินาที และกระสุนในขนาด .44 แม็กนั่ม แบบ SJHP ที่มีหัวกระสุนหนัก 240 เกรนและมีความเร็วไม่เกิน 1,400 ฟุต/วินาที รวมไปถึงป้องกระสุนในระดับ 1, 2 และ 3 ในภาพรวมจึงถือว่ามีความคุ้มค่ามากกว่าการนำเข้าเสื้อเกราะสำเร็จรูป เนื่องจากทีมพัฒนาสามารถทำได้ในต้นทุนที่ไม่สูง เฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 25,000 บาท ขณะที่ราคาเสื้อเกราะนำเข้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ตกอยู่ที่ตัวละไม่ต่ำกว่า 30,000 – 35,000 บาท ซึ่งผลิตในปริมาณมากก็จะยิ่งลดต้นทุนให้น้อยลงได้อีก

นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th

HTML::image( HTML::image( HTML::image(