โดยคณะของเมียนมา ได้เข้าชมการผลิตเหล็กรีดร้อน บมจ.สหวิริยาสตีล อินดัสตรี และธุรกิจท่าเรือประจวบ ในกลุ่มเอสวีแอล และร่วมประชุมหารือ เพื่อหาแนวทางพัฒนาการค้าและการลงทุน นำไปสู่การบรรลุข้อตกลงต่างๆ ร่วมกับภาครัฐของทั้ง 2 ประเทศ ได้แก่ การผลักดันให้เปิดด่านสิงขร จ.ประจวบฯ เป็นด่านการค้าถาวร เพื่อสร้างการเติบโตการค้าชายแดน รวมถึงแผนการพัฒนาโครงการ "Myeik – Bang Saphan Economic Land Bridge" โดยมีท่าเรือประจวบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าประมง และอื่นๆ จากจังหวัดมะริด สู่ลูกค้า และสินค้าจากเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) สู่จังหวัดมะริด และภูมิภาคอื่นๆ ของเมียนมา ซึ่งข้อหารือและข้อเสนอแนะจากการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนของภาครัฐทั้งไทย-เมียนมา จะนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมถึงการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านนายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ กล่าวว่า "การประชุมครั้งนี้นับว่าเป็นผลสำเร็จอีกขั้น มีการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องการค้า การลงทุนจากจังหวัดประจวบฯ สู่เมืองมะริด ผ่านด่านสิงขร รวมถึงการพูดคุยเรื่องธุรกิจโลจิสติกส์ จากด่านสิงขร ผ่านทางท่าเรือน้ำลึก อ.บางสะพาน ก็จะต้องหารือกันและร่วมกันพัฒนาต่อไป เนื่องจากเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ"
นายสุรเดช มุขยางกูร ประธานกรรมการบริหาร บจก.เอสวีแอล คอร์ปอเรชั่น ธุรกิจโลจิสติกส์ เอสวีแอล กรุ๊ป ให้รายละเอียดว่า"เมื่อด่านสิงขรได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นด่านผ่านแดนถาวร และถนนจากด่านมูด่องไปถึงมะริดระยะทาง 180 กิโลเมตรซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้เป็นถนนขนาดมาตรฐานแล้วเสร็จในปีหน้า จะเกิดเส้นทางเศรษฐกิจสายใหม่ที่จะเชื่อมต่อ การค้า การขนส่ง การท่องเที่ยวและการลงทุน เนื่องจากจะสามารถร่นระยะเวลาในการเดินทางเหลือเพียงไม่ถึง 4 ชั่วโมง และจากด่านสิงขรไปสู่ท่าเรือประจวบ อำเภอบางสะพานอีกเพียง 90 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง นี่จะเป็นการเชื่อมต่อจากมะริดที่อยู่ติดกับทะเลอันดามันมาสู่ท่าเรือประจวบ ในอ่าวไทย ด้วยระยะทางเพียง 270 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง เมื่อเส้นทางนี้ได้รับการพัฒนาแล้วเสร็จ จะกลายเป็น Myeik – Bang Saphan Economic Land Bridge หรือเส้นทางเศรษฐกิจสายสำคัญที่ไม่จำเป็นต้องรอเวลา หรือลงทุนเพิ่มอะไร เพราะทุกอย่างมีพร้อมอยู่แล้ว และจากท่าเรือประจวบเราสามารถเชื่อมโยงสู่ EEC โดยเรือขนส่งชายฝั่ง ไปสู่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อการส่งออกไปสู่ภูมิภาคเอเซียตะวันออก เช่น จีน และญี่ปุ่น ซึ่งเท่ากับเราจะสามารถดึงสินค้าส่งออกของเมียนมาที่จะส่งผ่านทางปีนังมาสู่ประเทศไทยได้" นายสุรเดช กล่าว
ซึ่งล่าสุด SVL Group ได้เตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนทางการค้าและการขนส่ง กับนายอูราตัน นักธุรกิจใหญ่ ในฐานะประธานหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม จังหวัดมะริด เพื่อดำเนินธุรกิจระหว่างฝั่งของ SVL Group กับทางเมียนมาต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit