อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิต ได้นำศิลปะด้านดนตรี หรือดนตรีบำบัด มาช่วยกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ให้กับเด็ก ช่วยเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายในการฟื้นฟูสมรรถภาพ ลดพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง อยู่ไม่นิ่ง ด้วยการใช้ "Optimusic" เทคโนโลยีที่สร้างแรงจูงใจในการเคลื่อนไหวร่างกาย ด้วยการบูรณาการระบบประสาทการได้ยิน การมองเห็น และการสัมผัส ในกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ผู้ที่มีปัญหาการรับรู้ประสาทรับความรู้สึก เด็กออทิสติก รวมถึงเด็กสมองพิการ เป็นต้น หลักการทำงานของ Optimusic จะประกอบด้วย อุปกรณ์สร้างลำแสงสีต่างๆ อุปกรณ์ที่เป็นแผ่นสะท้อนแสง และโปรแกรมซอฟต์แวร์ โดยลำแสงจากอุปกรณ์แต่ละสีจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวที่ตัดผ่านลำแสงหรือปิดการสะท้อนของลำแสง ส่งไปยังคอมพิวเตอร์ เพื่อเชื่อมโยงกับเสียงดนตรี หรือเสียงต่างๆ การใช้แสงและเสียงดนตรีย่อมช่วยให้เด็กสนใจและสนุก อีกทั้งยังได้เคลื่อนไหว ได้เรียนรู้การแยกสี การเรียงลำดับเสียงและเหตุการณ์ ทำให้สมองได้รับการพัฒนา นอกจากนี้ ได้ใช้ "ละครบำบัด" ช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย การเคลื่อนไหว การใช้กล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ พัฒนาทักษะทางภาษาให้สามารถเข้าใจและสื่อสารกับบุคคลอื่นได้ ตลอดจนช่วยในการพัฒนาทักษะการช่วยเหลือตัวเอง และ การส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมและการแสดงออก รวมถึงการได้สำรวจตัวเอง เรียนรู้การแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย สำหรับการสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น ซึ่ง หัวใจสำคัญของการนำละครมาใช้กับเด็กพิเศษ คือ การสร้างพลังศรัทธาในตัวเองและกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาตน สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ หรือมีทักษะทางสังคม (Social Skills) "ละครต้องเริ่มที่ความสนุก ความสนุกจะนำพาไปสู่ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่ดีขึ้น"
ด้าน นางสาวจันทริกา ปินตาโมงค์ นักวิชาการศึกษา สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กลุ่มการแพทย์ทางเลือก งานละคร ดนตรีและศิลปะบำบัด กล่าวเสริมว่า การจัดกิจกรรม Optimusic เป็นกิจกรรมที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลางโดยนำดนตรีเป็นสื่อเชื่อมและปรับพฤติกรรม โดยเด็กจะเรียนรู้พร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างสนุกสนาน สามารถจัดได้ทั้งแบบเดี่ยว และกลุ่มเพื่อฝึกการใช้กฎกติกามารยาทในการอยู่ร่วมกัน ฝึกสมาธิ ความสนใจ การรอคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เสริมสร้างทักษะทางด้านสังคม โดยการออกแบบกิจกรรมผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น การเล่นแบบสร้างสรรค์ การเล่นตามความคิดและจินตนาการ ถ่ายทอดผ่านการเล่น แสดงจากความรู้สึกออกมาทันที สร้างเรื่องราวผ่านเสียง เคลื่อนไหวร่างกายให้สอดคล้องกับดนตรี ทั้งนี้ คลินิกดนตรีบำบัด และคลินิก Optimusic เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 20.30 น. มีจำนวนผู้เข้ารับบริการทางคลินิก ในปัจจุบัน จำนวน 338 ราย จากการให้บริการ พบว่า ร้อยละ 96 ของผู้เข้ารับบริการ มีความฉลาดทางอารมณ์เพิ่มมากขึ้น พฤติกรรมก้าวร้าวลดลง การทำงานประสานกันระหว่างมือ ตา และกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น รู้จักรอคอยและมีสมาธิในการเรียนรู้ได้นานยิ่งขึ้น มีทักษะในการสื่อสารและการโต้ตอบกับบุคคลอื่น ตลอดจนเกิดความสนุกสนาน และรู้สึกผ่อนคลาย
ด้าน นางสาวชนารดี สุวรรณมาโจ นักละครบำบัด กลุ่มงานละคร สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กล่าวว่า ทีมงานละครจะเน้นกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน กิจกรรมที่ออกแบบให้กับผู้รับการฝึกจะอยู่บนพื้นฐานของ ความสนุก เพื่อตอบโจทย์ความเป็นละคร บทละครที่ถูกนำมาใช้จะอยู่บนพื้นฐานของชีวิตจริงที่ผู้รับการฝึกมีโอกาสจะได้เจอ ซึ่งทิศทางในการฝึกละครบำบัด สำหรับเด็กพิเศษ (อายุ 3 ปีขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่) แบ่งเป็น 5 ทิศทาง แต่ละทิศทางจะมีรายละเอียดของกิจกรรมเชิงลึกที่ปรับใช้สำหรับผู้รับการบำบัดแต่ละคนทิศทางที่ 1 การละลายพฤติกรรมของผู้รับการบำบัด ทิศทางที่ 2 การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทิศทางที่3 การใช้จินตนาการและสมาธิ ทิศทาง ที่ 4 การเคลื่อนไหวสร้างสรรค์ และ ทิศทางที่ 5 การแสดงด้นสด เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมและการแก้ปัญหา ปัจจุบันจำนวนผู้เข้ารับการฝึกทักษะทางสังคมในรูปแบบละคร มีจำนวนเฉลี่ยวันละ 4-12 รายต่อวัน ทุกรายต้องเข้าโปรแกรม การฝึกต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3-5 วัน อย่างน้อย 1เดือน จึงเริ่มที่จะมองเห็นพัฒนาการการปรับตัวในการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม จากการประเมินพัฒนาการทางอารมณ์ ผู้เข้ารับการฝึกทุกๆ 1เดือน พบว่า ร้อยละ 95 มีความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น มีความสุขในการเรียน และ ร้อยละ 100 มีความก้าวร้าวลดลงจนแทบจะไม่ปรากฏให้เห็น มีความสามารถด้านการเคลื่อนไหว มีความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนมีสมรรถภาพทางร่างกายและวินัยทางสังคมที่ดีขึ้นถึงร้อยละ 70 ยกตัวอย่างเช่น วันแรกที่เข้ารับการฝึกอาจยังไม่รู้จักมารยาทเบื้องต้นบนโต๊ะอาหารและการแปรงฟันหลังรับประทานอาหาร แต่เมื่อผ่านไป 1 เดือน ผู้เข้ารับการฝึกสามารถที่จะรับผิดชอบอุปกรณ์การทานอาหารของตนเองและรู้หน้าที่เรื่องการแปรงฟัน โดยที่ไม่ต้องสั่งให้ทำ แต่จะทำเองโดยอัตโนมัติ เพราะเข้าใจว่ามันคือหน้าที่ที่ต้องทำในการดูแลรักษาตัวเอง เป็นต้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit