เฉกเช่นเดียวกับ องค์กร Sustainable Food Lab Thailand หรือแล็บอาหารยั่งยืนประเทศไทย ที่เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการในงานเสวนาร่วมกำหนดทิศทาง "แล็บอาหารยั่งยืนประเทศไทย" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี กรุงเทพฯ จากการรวมตัวของ 3 ผู้นำร่วมสำคัญ แห่งการเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร อย่าง ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ที่ปรึกษาและนักออกแบบกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลง เชิงระบบ วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ผู้ก่อตั้งเครือข่ายตลาดที่มีจิตสำนึกและ INI พื้นที่สร้างสรรค์ และ อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสามพราน ริเวอร์ไซด์ และผู้ก่อตั้งสามพรานโมเดล หลังใช้เวลานานกว่า 3 ปี บ่มเพาะประสบการณ์ขับเคลื่อนระบบอาหารยั่งยืนในประเทศไทย
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล กล่าวถึงที่มาและเป้าหมายของ Sustainable Food Lab Thailand ว่า เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายองค์กรที่หลากหลาย ซึ่งมีประสบการณ์ทางระบบอาหารยั่งยืนในประเทศไทยและภูมิภาค โดยมีเป้าหมายประสงค์ ต้องการสร้างระบบอาหารของประเทศไทยให้ยั่งยืน และเชื่อว่าการตั้ง Sustainable Food Lab Thailand ครั้งนี้ จะทำให้สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูประบบนิเวศอาหารยั่งยืน ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อน และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ตลอดจนร่วมกันสร้างความไว้วางใจ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างเป็นขั้น เป็นตอนจนนำไปสู่การจัดตั้งเป็นผู้ประกอบการสังคมได้อย่างแท้จริง
"แรงบันดาลสำคัญที่นำไปสู่การก่อตั้ง Sustainable Food Lab Thailand เริ่มจากพวกเราทั้ง 3 คนได้เข้าร่วมเวทีเวิร์คช้อปออกแบบกระบวนการร่วมปฏิรูป "ระบบนิเวศอาหารยั่งยืน" ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ในประเทศไทย เมื่อ 3 ปีก่อน และผมเอง ได้เข้าร่วมใน Academy for Systems Change ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ ฮัล แฮมมิลตัน และปีเตอร์ เซงเก้ (ผู้ร่วมก่อตั้ง Sustainable Food Lab) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพวกเขาเห็นเรื่องอาหารเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจลุกขึ้นมาทำเรื่องความยั่งยืนเชิงระบบ ผสานกับพวกเราเอง มีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน จึงร่วมกันตั้ง Sustainable Food Lab Thailand ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม" ดร.อุดม พาย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นการก่อตั้งองค์กรแห่งนี้
ด้าน อรุษ นวราช ได้กล่าวถึงที่มาของการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งแล็บอาหารยั่งยืนประเทศไทย ครั้งนี้ว่า เมื่อ 7 ปีที่แล้วเขาเองเริ่มเชื่อมกับเกษตรกรอย่างจริงจัง ชวนมาทำธุรกิจร่วมกัน ผลิต ข้าว ผัก ผลไม้ อินทรีย์ส่งให้กับโรงแรมทำให้เห็นปัญหาของระบบอาหารที่ไม่สมดุล เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ทำให้เกิดแรงบัลดาลใจเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหา ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อน มีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับภาคส่วนต่างๆ อย่างเป็นระบบ จนเกิดผลเป็นรูปธรรม แต่ก็ทำได้แค่วงเล็กๆ ในพื้นที่ ซึ่งจากวิกฤติครั้งนั้นกลับมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เข้าใจวิธีการขับเคลื่อนโดยที่ ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมบนพื้นฐานการค้าที่เป็นธรรม และนั่นเป็นที่มาของสามพรานโมเดล ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรในโครงการ 11 กลุ่ม 150 กว่าครัวเรือนที่ทำเกษตรอินทรีย์ และมีการเชื่อมช่องทางการตลาดหลากหลายช่องทาง สร้างรายได้เพิ่ม ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และสร้างสุขภาพที่ดีแก่ผู้บริโภค
"การขับเคลื่อนทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนมาเข้าใจปัญหา และเห็นโอกาสพร้อมๆ กัน และต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางเดี่ยวกัน มีส่วนร่วมได้เสีย แต่ต้องมีคนที่ขับเคลื่อนให้ตรงนี้มันเกิดขึ้นเสียก่อน ความต่อเนื่อง คือหัวใจสำคัญ วันนี้เราทั้ง 3 คน ก็เลยอาสามาเป็นผู้ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าประเทศไทยสามารถเป็นมหาอำนาจทางอาหารได้" อรุษ กล่าว
เช่นเดียวกับ วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ที่ให้เหตุผลว่า หลังร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในเอเชียร่วมกับพาสเนอร์ และจัด Mindful Markets Social Enterprises ทำให้เราเห็นระบบการขับเคลื่อนเรื่องระบบอาหารที่มีอยู่ในภูมิภาคเอเชีย บวกกับแรงบันดาลใจที่มี ทำให้เกิดความหวังของการรวมตัวครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นถักทอฝัน ฝันที่อยากเห็นคนที่อยู่ในระบบอาหาร รวมพลังกันขับเคลื่อนทำให้ระบบอาหารเกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน และมีความหวังให้กับคนรุ่นต่อไป
อย่างไรก็ตาม ดร.อุดม ยอมรับว่า การดำเนินการเกี่ยวอาหารยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จในเวลาเพียงไม่กี่เดือน หรือ 1-2 ปี แต่เราต้องมีหลักการทำงานร่วมกัน อย่างสหรัฐอเมริกาใช้เวลานานหลายปีกว่าจะประสบความสำเร็จเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเราจะนำแบบอย่างนี้มาพัฒนาให้เกิดขึ้นในประเทศไทย จากแรงผลักดันของเครือข่ายทุกคนที่ร่วมกันทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาผมได้ถอดบทเรียนเกี่ยวกับการปฏิรูปทางอาหาร โดยมี 4 รูปแบบการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย คือรัฐและไม่ใช่รัฐ แบ่งเป็น 1.คนคิดไม่ได้ทำ 2.คนทำไม่ได้คิด 3.ได้แต่คิดได้แต่เสนอ และ 4.ต่างคนต่างคิดต่างทำ นั่นทำให้เราต้องมีพื้นที่กลางในการร่วมความคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมกัน โดยเชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
"ในการรวมตัวครั้งนี้มีความหมายและสำคัญยิ่ง เพราะพวกเราทั้ง 3 คน มีเป้าหมายเดียวกันที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบนิเวศอาหารในประเทศไทยให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน โดย Sustainable Food Lab Thailand เป็นเวทีกลางสำหรับทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้กับระบบอาหารในประเทศไทย" ดร.อุดม กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับกิจกรรมสำคัญของ Sustainable Food Lab Thailand คือการจัดทำหลักสูตร "พัฒนาผู้นำระบบอาหารยั่งยืน ความร่วมมือระหว่างธุรกิจและชุมชน" โดย ดร.อุดม อธิบายว่า หลักสูตรนี้มีเป้าหมาย คือ การพัฒนาความร่วมมือของภาคธุรกิจ ภาคสังคม ภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ประกอบการสังคม ผู้บริโภค เกษตรกร และธุรกิจชุมชน ที่สนใจอาหารด้านอินทรีย์ แต่ยังขาดการเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เพื่อร่วมกันสร้างระบบอาหารและการเกษตรยั่งยืนในสังคมไทยและภูมิภาค บนฐานของความใส่ใจ สุขภาพ การเกื้อกูลต่อระบบนิเวศและความเป็นธรรม
หลักสูตรนี้จัดขึ้น 3 ช่วง ในระยะเวลา 1 ปี มีเนื้อหาเกี่ยวกับระบบอาหารและการเกษตรยั่งยืน ผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบนวัตกรรมการประกอบการสังคม การศึกษาดูงานการตลาดอาหารอินทรีย์ การพัฒนาแผนธุรกิจร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจและชุมชน บนฐานของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยกระบวนการเรียนรู้ทั้งระดับบุคคลและองค์กร ผ่านองค์ความรู้จากวิทยากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากมาย ถ่ายทอดความรู้จนทำให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง
สำหรับภาคส่วนต่างๆที่สนใจเชื่อมโยงเครือข่ายรวมพลังปฏิรูประบบนิเวศหารอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทย ขอรายละเอียดหลักสูตร พัฒนาผู้นำระบบอาหารยั่งยืน ได้ที่ Sustainable Food Lab Thailand ผ่านทาง Email: [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit