เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) จัดเสวนา เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก ระบุไทยมีผู้ลี้ภัยกว่า 120,000 คน จากกว่า 40 ประเทศ เรียกร้องให้ภาครัฐส่งเสริมความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

04 Jul 2017
เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) จัดเสวนา เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก ระบุไทยมีผู้ลี้ภัยกว่า 120,000 คน จากกว่า 40ประเทศ เรียกร้องให้ภาครัฐส่งเสริมความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาสังคมในการจัดทำระบบคัดกรองและการบริหารจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560ย้ำผู้ลี้ภัยเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องไม่ถูกจับ กักขัง และได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม ผู้ลี้ภัยควรเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ ขณะที่การขอใช้สิทธิประกันตัวเมื่อถูกจับกุมต้องสมเหตุสมผล
เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) จัดเสวนา เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก ระบุไทยมีผู้ลี้ภัยกว่า 120,000 คน จากกว่า 40 ประเทศ เรียกร้องให้ภาครัฐส่งเสริมความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

เนื่องในวันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็นวันผู้ลี้ภัยโลก เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ร่วมกับองค์กร Asylum Access Thailand และ Documentary Club Thailand จึงได้ร่วมกันจัดเสวนา ในหัวข้อ"เปิดสถานการณ์ผู้ลี้ภัยกว่า 40 ชาติในประเทศไทย:สู่ความคุ้มครองและการจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย" รวมทั้งจัดฉายภาพยนต์สารคดีเรื่อง"After Spring" ที่บอกเล่าเรื่องราวผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในค่าย"ซาทารี"ประเทศจอร์แดน ที่ใหญ่เป็นอันดับ สองของโลก ในวันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2560 เวลา 10.00 – 13.00 น.ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยแก่สาธารณะชน รวมทั้งนำเสนอข้อเสนอแนะให้กับรัฐไทยเกี่ยวกับการบริหารจัดการผู้อพยพลี้ภัยในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ

นายชวรัตน์ ชวรางกูร ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบาย องค์กร Asylum Access Thailand กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศกว่า 120,000 คน ซึ่งเป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบจากประเทศเมียนมา กว่า 110,000 คน โดยอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดน ไทย-พม่า เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี และผู้ลี้ภัยจากประเทศปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์ ซีเรีย และอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ภายนอกศูนย์พักพิงชั่วคราว โดยกระจายอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกประมาณ7,400 คน โดย จำนวนผู้ลี้ภัยได้เพิ่มขึ้นมาตลอดในช่วงระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมาและมีแนวโน้มคงที่ ณ ปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังมีผู้อพยพกลุ่มอื่นๆ ที่หลบหนีเข้ามายังประเทศไทยเพื่อแสวงหาการปกป้องคุ้มครองไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพชาวโรฮิงยา และผู้อพยพชาวอุยเกอร์

ขณะที่นายศิววงศ์ สุขทวี ผู้แทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 รวมทั้งประเทศไทยไม่มีกฎหมายและนโยบายในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัย ประกอบกับการใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็น กรอบการดำเนินการหลักในลักษณะของการปราบปรามมากกว่าการปกป้องคุ้มครอง ด้วยเหตุนี้บ่อยครั้งจึงเป็นเหตุให้ผู้ลี้ภัยถูกจับกุมและถูกกักขังโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา รวมถึงการถูกผลักดันกลับไปเผชิญอันตรายในประเทศบ้านเกิด ทั้งนี้สถิติผู้ลี้ภัย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมม พ.ศ.2560 มีผู้ที่ได้รับการรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจาก UNHCR จำนวนประมาณ4,100 คน และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ที่รอผลการพิจารณาจาก UNHCR ประมาณ 3,300 คน ในจำนวนผู้ลี้ภัยนี้มีผู้ถูกกักอย่างไม่มีกำหนด ณ สำนักงานตรวจคนเมืองอยู่ประมาณ 260 คน นอกจากนี้ผู้ลี้ภัยยังเผชิญปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ที่มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาในการเข้ารักษาในสถานพยาบาลของรัฐ รวมถึงการไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ครบถ้วน จากการไม่มีระบบประกันสุขภาพพื้นฐานที่ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงได้ ขณะที่สถานพยาบาลเอกชน แม้จะได้รับการบริการที่ดีกว่า แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ขณะที่การเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยก็ยังมีปัญหาในภาคปฏิบัติ แม้ไทยจะมีนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน ( Education For All)เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนโยบายซึ่งเปิดโอกาศให้เด็กผู้ลี้ภัยเข้าถึงการศึกษาของภาครัฐได้ และเนื่องจากผู้ลี้ภัยยังไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจนทำให้ไม่สามารถขออนุญาตทำงานตามพรบ.การทำงานของคนต่างด้าวได้ จึงต้องทำงานเพื่อความอยู่รอดแบบผิดกฎหมาย ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเข้าถึงการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

นายศิววงศ์กล่าวเสริมว่า ผู้ลี้ภัยไร้รัฐชาวโรฮิงยายังคงลี้ภัยเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจุดมุ่งหมายของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องการไปต่อยังประเทศที่สาม โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ผู้ลี้ภัยไร้รัฐ ชาวโรฮิงยาจำนวนมากอาศัยการพึ่งพาจากขบวนการนำพาคนหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งหลายครั้งกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์ และเมื่อเจ้าหน้าที่ไทยดำเนินการจับกุมมาได้ จำนวนหนึ่งก็จะถูกกักขังอย่างไม่มีกำหนด หรืออยู่ในสถานะที่ได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะเหยื่อ หรือพยานจากการค้ามนุษย์ ผู้แทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ยังได้ยกตัวอย่างมาตรการทางเลือกแทนการกักตัวผู้อพยพลี้ภัยในต่างประเทศ อาทิเช่น มาเลเซียไม่จับกุมและกักตัวผู้ที่เป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยหากมีบัตรสถานะการขอลี้ภัยที่ทาง UNHCR ออกให้ ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียมีกฎหมายคนเข้าเมืองอนุญาตให้กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิงตั้งครรภ์ และคนป่วย ไปพักอาศัยชั่วคราวในบ้านพักอาศัยในชุมชนได้ โดยไม่ต้องถูกควบคุมตัวในสถานกักตัวคนต่างด้าว ส่วนประเทศแคนาดามีกฎหมายคุ้มครองผู้ลี้ภัยโดยมีหน่วยงานอิสระในการออกคำสั่งการกักตัวหรือปล่อยตัวผู้ต้องกัก โดยมีการพิจารณาคำตัดสินการกักตัวเป็นระยะๆ ซึ่งช่วยทำให้บุคคลไม่ถูกกักขังโดยไม่จำเป็น และยังมีโครงการนำร่องการประกันตัวโดยไม่ต้องใช้เงินประกัน ขณะที่ประเทศแซมเบียมีกลไกระดับชาติด้านการส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการให้ความคุ้มครองแก่ผู้อพยพที่เปราะบาง สุดท้ายฮ่องกงมีระบบคัดกรองผู้ลี้ภัย โดยผู้ที่เข้าสู่กระบวนการคัดกรองสามารถได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐกำหนดและได้รับการคุ้มครองจากการผลักดันไปสู่อันตราย

การมีนโยบาย กฎหมายในการบริหารจัดการผู้อพยพลี้ภัยนอกเหนือจากการใช้ พรบ.คนเข้าเมืองจะทำให้ไทยสามารถแยกผู้ที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองออกจากกลุ่มผู้ที่แฝงตัวเข้ามา ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงนโยบายที่คลอบคลุมทุกกระบวนการ ตั้งแต่การคัดแยก การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น การสนับสนุนให้ช่วยเหลือตนเองและการคืนประโยชน์สู่สังคมไทยในระหว่างที่ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว

ด้านนายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า กรณีที่ประเทศไทยเห็นชอบการจัดตั้งกลไกการคัดกรองผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา ยังมีคำถามว่า จะสามารถแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา จะเห็นว่า ก่อนการออกมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ไม่มีตัวแทนจากภาคประชาสังคม นักวิชาการ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ เข้าไปมีส่วนร่วมในการดูหรือร่วมแสดงความคิดเห็นในกฎหมายนี้เลย

อย่างไรก็ตามในระหว่างรอการดำเนินการออกกฎหมายและแนวทางในการคัดกรองผู้ลี้ภัยภาครัฐควรพิจารณา ให้มีมาตรการและแนวปฏิบัติระยะสั้นที่จะไม่จับกุมคุมขังกลุ่มผู้ลี้ภัยเปราะบาง ประกอบด้วยเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วย และพิจารณาผ่อนผันให้ผู้ลี้ภัยซึ่งถือเอกสาร UNHCR พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว

"กรณีเด็กลี้ภัยอายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจากทางภาครัฐจะไม่จับกุมแล้ว ควรเพิ่มสวัสดิการให้กับเด็กเหล่านี้ด้วย ทั้งเรื่องการดูแลผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือ พม. รวมถึงการอนุญาติให้ซื้อหลักประกันสุขภาพ และสิทธิการได้เรียนหนังสือ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ควรระบุให้ชัดในร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย"ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าว

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องระบุให้ชัดในการดำเนินการคือ กรณีการขอประกันตัว ควรมีหลักเกณฑ์ในการประกันตัวที่ชัดเจน และมีอัตราจำนวนเงินประกันที่ไม่ควรสูงจนเกินไป เพราะปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 50,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมาก พร้อมกันนี้ นายอดิศร ยังมีข้อเสนอไปยังหน่วยงานรัฐ เกี่ยวกับมาตรการระยะยาว โดย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง และการจัดทำกลไกการคัดกรองผู้ลี้ภัยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงถึงประสิทธิภาพ และการปกป้องสิทธิผู้ลี้ภัยเป็นสำคัญ รวมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุดในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัย ได้แก่ คณะอนุกรรมการคัดกรอง คณะอนุกรรมการด้านดูแลช่วยเหลือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัย และ คณะอนุกรรมการด้านอุทธรณ์การอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวในประเทศไทย ตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ผู้ลี้ภัยควรมีต่อไป

HTML::image( HTML::image( HTML::image(