ACT จัดเวทีเสวนา 'ใบอนุญาตก่อสร้าง ความสะดวกที่ต้องจ่าย... จริงหรือ’ เพื่อระดมความเห็น ปลดล็อคสินบน

04 Jul 2017
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงานเสวนา 'ใบอนุญาตก่อสร้าง ความสะดวกที่ต้องจ่าย.. จริงหรือ' โดยเชิญตัวแทนแต่ละภาคส่วนมาร่วมถก ได้แก่ นายอัชชพล ดุสิตานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ฯ​ ชี้ 'ปัญหาคอร์รัปชันจะแก้ไขได้ ต้องแก้ที่ตัวเราก่อน ตัวเราเองดีแล้วหรือยัง' ส่วน รศ. ดร. ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เน้นว่า 'ถึงจุดนี้ ประเทศต้องมีการเปลี่ยนแปลง และพยายามแก้ไขปัญหาการให้สินบนการก่อสร้าง' สำหรับภาคเอกชน นายสรรค์ สุขุขาวดี ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) พูดแทนภาคเอกชน 'ถึงวันนี้ ผู้ประกอบการไม่มีใครอยากจ่ายใต้โต๊ะ เพราะทุกอย่างเป็นต้นทุนทั้งนั้น ซึ่งในที่สุดก็ตกอยู่กับผู้บริโภค'
ACT จัดเวทีเสวนา 'ใบอนุญาตก่อสร้าง ความสะดวกที่ต้องจ่าย... จริงหรือ’  เพื่อระดมความเห็น ปลดล็อคสินบน

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนต้องแบกรับภาระราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากค่าใช้จ่ายซ่อนเร้นซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายให้กับข้าราชการในการขอใบอนุญาตที่ต้องยื่นขอเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทยมาเป็นเวลานาน

แม้ว่าจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกในการพิจารณาใบอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐต้องปรับปรุงการให้บริการประชาชนเมื่อไปติดต่อทำเรื่องขออนุญาตต่างๆ ให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว แต่ปัจจุบัน ถือว่า พ.ร.บ.​ฉบับนี้ ยังมีผลในทางปฎิบัติน้อยมาก

รศ. ดร. ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า "เรามีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหามาเป็นเวลานานมาก แต่เนื่องจากขาดความต่อเนื่อง และความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ ผลที่ออกมาไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน"

นายอัชชพล ดุสิตานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ความเห็นว่า "ปัญหาการขอใบอนุญาตเกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัย อาทิ ค่านิยมของคนในสังคมที่ประชาชนในการอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าขุนมูลนาย อีกทั้งกฎหมายของประเทศที่ยังไม่ศักดิ์สิทธิ์ทำให้ทุกคนคิดแต่จะเลี่ยงกฎหมาย และพื้นฐานทางด้านการศึกษา เป็นต้น"

"นอกจากนี้ เราต้องยอมรับความเป็นจริงในสังคมว่า ปัจจุบันข้าราชการระดับสูงเงินเดือนค่อนข้างน้อย จึงทำให้คนกลุ่มนี้ถูกชักจูงด้วยกลุ่มพ่อค้าที่เข้ามาหยิบยื่นข้อเสนอบางอย่างให้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ตนต้องการได้ง่าย"

นายสรรค์ สุขุขาวดี ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้แสดงความคิดเห็นในมุมมองภาคเอกชนว่า ผู้ประกอบการไม่มีใครอยากจ่ายใต้โต๊ะเพราะทุกอย่างเป็นต้นทุน การไปยื่นใบอนุญาตก่อสร้างในแต่ละครั้ง จะมีเจ้าหน้าที่เรียกไปคุยก่อน เพื่อต่อรองกันเรื่อง 'การแบ่งปันรายได้' ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการต่อรองมี 2 ประเด็นหลักคือ การที่ผู้ประกอบการทำผิดกฎหมาย และการซื้อเวลา ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานรัฐ จัดตั้ง One Stop Service เพื่อให้การทำงานต่างๆ รวดเร็วขึ้น

นางอารีพันธ์ เจริญสุข ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในฐานะตัวแทนจากภาครัฐ ได้กล่าวว่า "สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่เห็นกันมานาน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะภาครัฐสร้างกลไกความไม่สะดวกให้เกิดขึ้นจากการเข้าไปกำกับในทุกขึ้นตอน ทำให้ภาคเอกชนต้องใช้เงินเพื่อซื้อความสะดวก ทั้งหมดนี้จึงเป็นต้นตอของการคอร์รัปชัน""เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน วันนี้ รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาที่ละฉบับๆ แต่โลกหมุนไปเร็วมาก ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศถดถอยลงไปมาก ทำให้ คะแนน Ease of Doing Business ของประเทศไทยถดถอยลงเรื่อยๆ ดังนั้น พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 จึงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และถูกลง

แต่ในทางปฎิบัติ ถึงแม้ว่าจะช่วยให้การทำงานมีความโปร่งใสมากขึ้น ก็ยังไม่ช่วยให้การทำงานรวดเร็วขึ้นทั้งหมด สำนักงาน ก.พ.ร. จึงมีแนวคิดที่จะปรับลดขั้นตอนลงในอนาคต"

ดังนั้น ก.พ.ร. จีงมีแนวคิดในการพัฒนาการบริการภาครัฐไปสู่ระบบดิจิทัลให้มากขึ้น หรือ Zero Touch ที่ทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยระบบที่เซ็ทไว้ ทำให้ลดเวลาในการดำเนินการ และลดปัญหาการคอร์รัปชัน ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการของบประมาณจาก กสทช. เพื่อทำ Single Form และนำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จ จะสามารถลดขั้นตอนและเวลาดำเนินการต่างๆไปได้ 30-50%

จากการเสวนาในครั้งนี้ วิทยากรทุกท่านต่างให้ความเห็นว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรมานั่งคุยกัน ถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อแก้ไขให้ปัญหาต่างๆเหล่านี้หมดไป

HTML::image( HTML::image( HTML::image(