เพราะต้องการอนุรักษ์อาชีพดั้งเดิมซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไว้ กลุ่มเยาวชนบ้านตันหยงลุโละ ประกอบด้วย ฮาฟิส-อับดุลฮาฟิส แวอาลี,รอกิ-อับดุลอาซิส แม,มาโจ้-นีมูหัมหมัด นิเดร์หะ นักศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ณา-สุรีณา เจสะมะแอ นักศึกษาสาขาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ และเฮาะ-อิสเฮาะ เจะมามะ เยาวชนในพื้นที่ รวมตัวกันทำโครงการเกลือหวานตานี ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ที่ดำเนินการโดยสงขลาฟอรั่ม สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้เด็กเยาวชน และคนในชุมชนตระหนักและเห็นคุณค่าของการทำนาเกลือ จนเกิดการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำนาเกลือให้คงอยู่กับชุมชนต่อไป
ในอดีตคนในชุมชนตันหยงลุโละประกอบอาชีพทำนาเกลือและประมงเป็นหลัก โดยในต.ตันหยงลุโละ และ ต.บานา ขึ้นชื่อเรื่องการทำนาเกลือ ถึงขั้นมีการเปรียบเปรยว่า ที่นี่เป็นถิ่นเกลือหวานหรือ "ฆาแฆ ตานิง มานิฮฺ" ในภาษามลายู แปลว่า เกลือหวานปัตตานีแต่ปัจจุบันอาชีพการทำนาเกลือเริ่มลดน้อยลง แปลงนาหลายแปลงถูกทิ้งร้าง บางส่วนเปลี่ยนสภาพเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยและบางส่วนเป็นนากุ้ง คนรุ่นใหม่เทใจออกห่าง เพราะเห็นว่าเป็นอาชีพที่เหนื่อยยาก ต้องตรากตรำทำงานกลางแดดที่แผดเผาเนื้อตัว ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยเหมือนก่อนและราคาเกลือที่ตกต่ำ หลายครอบครัวตัดสินใจขายนาเกลือไปเพราะไม่มีคนสืบทอด ปัจจุบันที่นี่เหลือคนทำนาเกลือเพียงแค่ 20 เจ้าเท่านั้น
เมื่อแบมะ-มูฮำหมัด กะอาบู ที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ในชุมชน ชวนทำโครงการพร้อมกับตั้งคำถามชวนคิดว่า "บ้านเรามีของดีอะไรที่อยากอนุรักษ์" โครงการเกลือหวานตานีจึงเป็นโจทย์แรกที่ทุกคนในกลุ่มเห็นร่วมกันที่อยากจะฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ฮาฟิส เล่าที่มาของคำว่าเกลือหวานว่า เพราะเกลือในพื้นที่ตันหยงลุโละขึ้นชื่อว่าเป็นเกลือที่มีคุณภาพดี มีสีขุ่นกว่าเกลือภาคกลาง มีรสชาติกลมกล่อม ไม่เค็มจัด โดยมีงานวิจัยจาก ม.สงขลานครินทร์ ระบุว่าน้ำทะเลที่ตันหยงลุโละมีลักษณะเฉพาะตัวมีแร่ธาตุและสารประกอบคนละชนิดกับน้ำทะเลภาคกลางทำให้ได้เกลือที่มีรสชาติแตกต่างกัน ไม่เค็มจัดซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะปัตตานี คนส่วนใหญ่จะนิยมนำไปหมักปลา ทำน้ำบูดู ทำปลาแห้ง ดองผักและผลไม้ ได้รสชาติที่ดีเนื้อไม่เละ และคงความกรอบได้นาน
เมื่อโจทย์และเป้าหมายชัด ทีมงานจึงชวนกันออกแบบกิจกรรมเรียนรู้การทำนาเกลือ ตั้งแต่การพาเด็กและเยาวชนในชุมชนศึกษาประวัติการทำนาเกลือ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนและคนนอกชุมชนอย่างเพื่อนๆนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเข้ามาเรียนรู้ชุมชนและวิถีการทำนาเกลือ เข้ามาร่วมเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำนาเกลือในลักษณะ One Day Trip ซึ่งเพื่อนหลายคนที่มาจากต่างถิ่นรู้สึกตื่นเต้น พร้อมตั้งคำถามว่า ปัตตานีมีนาเกลือด้วยหรือ... กิจกรรมดังกล่าวมีปราชญ์ชาวบ้านบังฟุรกอน สาและ ชายวัย 30 ต้นๆ ที่ยังคงทำอาชีพรักษาความเค็มต่อจากพ่อมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ที่สื่อสารเป็นภาษามาลายูสลับภาษาไทย โดยบังฟุรกอนเล่าถึงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของนาเกลือในอดีตและปัจจุบัน อุปกรณ์และวิธีการทำนาเกลือ ความแตกต่างของเกลือที่นี่กับเกลือภาคกลาง รวมไปถึงช่องทางการจำหน่ายหรือราคาเกลือที่ในอดีตพุ่งสูงราวกับราคาทองคำ
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มทำนาเกลือ ชาวบ้านจะต้องปรับพื้นที่ซึ่งเป็นดินเหนียวโดยยกเป็นแปลงๆ คล้ายๆ นาข้าวเพื่อใช้ขังน้ำทะเล มีคันนากว้างพอให้คนเดินผ่านไปมาได้ การทำนาเกลือเริ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้งโดยในหนึ่งปีจะแบ่งเป็น 2 รอบ รอบแรกตั้งแต่เดือนกุมพันธ์-มีนาคม และรอบสองตั้งแต่ เมษายน-มิถุนายน ซึ่งในรอบสองนี้ชาวนาเกลือไม่ต้องปรับสภาพผิวดิน ทำเพียงแค่ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในบางจุดเท่านั้น วิธีการทำนาเกลือขั้นตอนแรกชาวนาจะสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำหัวพญานาคผันน้ำทะเลเข้านา จากนั้นตากให้แห้งจนเห็นดินแตกระแหง ใช้ลูกกลิ้งๆ ไปมาให้แน่น ยิ่งดินแข็งมากเท่าไรยิ่งทำให้เกลือขาวสะอาดมากขึ้น พอน้ำแห้งสูบเข้านาใหม่อีกรอบเพื่อให้แปลงนาเกิดความเค็มอย่างต่อเนื่อง
ข้อสังเกตที่ปราชญ์ชาวบ้านให้ข้อมูลคือ หากดินเริ่มเค็มจะเห็นเป็นสีขาวจากนั้นเติมน้ำเข้านาอีกประมาณ 3 ครั้ง ตากให้น้ำแห้งจนเห็นประกายแววใส นั่นหมายความว่าเกลือตกผลึกแล้ว ยิ่งแดดแรงและลมดีเท่าไรเม็ดเกลือที่ได้จะสวยใสและมีรสชาติดียิ่งขึ้น จากนั้นเกษตรกรชาวนาเกลือจึงใช้เครื่องมือคราดกวาดมากองไว้อย่างเบามือเพื่อไม่ให้มีดินปะปน เกลือที่ได้ เก็บขายกันเป็นกระสอบหรือแบ่งขายเป็นกันตัง กันตังละ 70 บาท (1 กันตังเท่ากับ 4 ลิตร) หลังจากเก็บเกลือแล้วจะมีการปรับหน้าดินเพื่อรอฤดูกาลถัดไป ผลพวงจากการปรับหน้าดินแต่ละรอบจะได้เกลือปุ๋ยซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นเลิศที่เกษตรกรการันตีว่าคุณภาพดีกว่าปุ๋ยเคมี เพราะมีสารอาหารครบถ้วนที่พืชผลทางการเกษตรต้องการ
การพาน้องๆ และเพื่อนต่างถิ่นเข้ามาเรียนรู้วิถีชุมชนในครั้งนี้ ทำให้เยาวชนในชุมชนได้เรียนรู้ประวัติการทำนาเกลือของชุมชนตัวเอง รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้คนในชุมชนหันมาสนใจและใส่ใจภูมิปัญญาการทำนาเกลือมากขึ้น
"กระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อยเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถสะท้อนถึงความสำคัญของนาเกลือ ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีอาชีพของบรรพบุรุษผ่านกระบวนการทำนาเกลือของจริง ผ่านแผนที่เดินดินจากการสำรวจ และน้องทุกคนเห็นตรงกันว่าอยากให้มีการทำนาเกลือในชุมชนต่อไป"ด้าน รอกิ กล่าวว่า อยากนำวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมาปรับใช้โดยเฉพาะในเรื่องการ "เปิดตลาด" เกลือหวานตานีให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ทั้งการถนอมอาหารและการทำผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆด้วย
"ผมอยากทำให้เกลือหวานตานีเป็นที่รู้จักมากกว่าแค่ในชุมชน คิดว่าทำอย่างไรให้เกลือของเราสามารถเข้าไปอยู่ในร้านสะดวกซื้อหรืออยู่ในห้างได้ ทั้งในเรื่องการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เกลือมีมูลค่าสูงขึ้น ผมเคยคิดถึงขนาดว่าตั้งโรงงานผลิตเกลือดีไหม เพราะนอกจากจะได้เรื่องการตลาดแล้ว ยังช่วยฟื้นอาชีพเก่าแก่และทำให้คนในชุมชนมีรายได้เลี้ยงครอบครัวอีกด้วย แต่จะทำอย่างไรให้เกลือหวานตานีเป็นที่รู้จักมากกว่านี้" รอกิ กล่าวทิ้งท้ายประโยคด้วยโจทย์คำถาม
เมื่อถูกตั้งคำถาม "กระตุกต่อมคิด" ว่าบ้านเรามีอะไรดี นำไปสู่การรวมกลุ่มของเยาวชนบ้านตันหยงลุโละที่อาสาลุกขึ้นมาสืบค้นคุณค่าความหมายของ "เกลือหวานตานี" นาเกลือผืนสุดท้ายของแหลมมลายูอย่างลึกซึ้งแล้ว พวกเขายังส่งต่อความรู้ให้คนทั้งในและนอกชุมชนได้รับรู้ถึงคุณค่าภูมิปัญญาการทำนาเกลือที่นับวันจะเหลือน้อยลงทุกที ทั้งยังคิดต่อยอดสร้างมูลค่าเกลือหวานตานีให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น เพื่อให้อาชีพทำนาเกลือคงอยู่คู่แหลมมลายูตลอดไป.///
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit