นายนพดล ศิริจงดี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ภายใต้ โครงการเขาพระยาเดินธง "ศูนย์การเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" เป็นความร่วมมือของกรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ตลอดจนสานต่อภารกิจความยั่งยืนของซีพีเอฟ ในเสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม "ดิน น้ำ ป่าคงอยู่" ภายใต้เป้าหมายการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยตระหนักดีถึงบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมและผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (The United Nations Sustainable Development Goals หรือ SDGs) โดยเฉพาะในประเด็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบกและการสร้างความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
"ซีพีเอฟ ได้ผสาน SDGs เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืนในกิจกรรมต่างๆ เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก" นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวต่อไปว่า ตามแผนยุทธศาสตร์โครงการฯ 5 ปี (ปี 2559 – 2563) ได้กำหนดเป้าหมายไว้ 5 ประการ คือ 1.ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำในลุ่มน้ำป่าสักพื้นที่เขาพระยาเดินธง ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์เป็นการเพิ่มพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้กับลุ่มน้ำป่าสัก 2.ติดตามและวัดผลความหลากหลายทางชีวภาพของ พืช และสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น 3.ร่วมลดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากจำนวน CO2 ที่ต้นไม้กักเก็บ และการให้บริการระบบนิเวศของต้นไม้ 4.เป็นแหล่งพืชอาหาร สมุนไพร และไม้ใช้สอยให้กับชุมชน สร้างงานและรายได้ให้กับประชาชนที่อยู่โดยรอบ และ5.พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบด้านการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ของชาติ ครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำเขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี กว่า 5,900 ไร่
สำหรับการดำเนินงานในปี 2560 มีเป้าหมายการอนุรักษ์และปลูกใหม่ประมาณ 3,200 ไร่ เพาะกล้าไม้เพื่อเตรียมปลูก 400,000 ต้น สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น 20 ฝาย สร้างเรือนเพาะชำ สร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการดำเนินงาน โดยกิจกรรมในวันนี้ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนประมาณ 1,000 คน จะดำเนินการปลูกป่าแบบพิถีพิถัน 100 ไร่ แบ่งเป็น ปลูกป่า "แปลงสาธิตการปลูกป่าเชิงนิเวศ" จำนวน 50 ไร่ เป็นการปลูกต้นไม้แบบคละกัน และการปลูกเป็นแถวเป็นแนวอีก จำนวน 50 ไร่ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น 4 ตัว ปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ฝายกึ่งถาวร
นอกจากนี้ ซีพีเอฟได้จัดตั้งคณะทำงานภายในองค์กร ทำหน้าที่ร่วมกับกรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ในการวางแผนและดำเนินงานอนุรักษ์และฟื้นฟู เริ่มตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ พร้อมสนับสนุนงบประมาณ และสร้างการมีส่วนร่วมโดยเชิญชวนชุมชนโดยรอบ พนักงานในพื้นที่ใกล้เคียงและส่วนกลางเข้าร่วมกิจกรรมตามความเหมาะสม เช่น เพาะกล้า ปลูก ปลูกซ่อม ดูแล การติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการเชิญคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานด้านพืชและสัตว์ และสำรวจศักยภาพของชุมชนรอบพื้นที่โครงการ พัฒนาต่อยอดด้านการนำความหลากหลายทางชีวภาพไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้ชุมชนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืนตามแผนยุทธศาตร์ที่วางไว้
นาย ภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ดำเนินงานามแนวทาง "ประชารัฐ" ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในพื้นที่ ที่ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำแก่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนไทย ทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้และอนุรักษ์ให้กับสังคม ซึ่งจะเกิดผลดีต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ในอนาคต
ทางด้าน ว่าที่ร้อยตรี ทรงพล แป้นแก้ว นายอำเภอพัฒนานิคม กล่าวว่า โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เป็นต้นแบบที่ดีของการสร้างความร่วมมือเชิงบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจะเป็นกลไกสำคัญในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยภาครัฐพร้อมที่จะมีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการเพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืน
อนึ่ง พื้นที่ป่าต้นน้ำเขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ได้รับการประกาศให้เป็นป่าไม้ถาวรของชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2504 โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการให้อยู่ในขอบเขตพื้นที่ป่าไม้ถาวรของชาติ บนพื้นที่ 5,971 ไร่
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit