นายวิลาส จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกต กรณีโครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ถนนเจริญนคร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าเป็นที่ดินตาบอด ไม่มีทางเข้าออก มีเพียงทางคนเดินที่เข้าถึง และรอบข้างเป็นชุมชนที่รถขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าออกได้ หากมีการก่อสร้างจะผิดกฎหมายถึง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วยการก่อสร้าง รุกล้ำลำน้ำ เสนอให้ใช้พื้นที่ราชพัสดุที่เหมาะสมในการก่อสร้างให้มีความโดดเด่น
คำชี้แจง
1) ที่ดินราชพัสดุแปลงก่อสร้างหอชมเมือง เป็นที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 3346 เนื้อที่ 4-2-34 ไร่ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีด้านกว้างประมาณ 53 เมตร และด้านยาวประมาณ 140 เมตร ผลการศึกษาความเป็นไปของโครงการด้านรูปแบบในเบื้องต้นปรากฏว่า อาคารหอชมเมืองที่มีส่วนที่สูงที่สุด 459 เมตร มีความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง เนื่องจากอยู่ไม่เกินสองเท่าของระยะราบคือ 230 เมตร วัดจากด้านตรงข้ามของถนนสาธารณะหรือเขตทางของถนนเจริญนครมาตั้งฉาก โดยส่วนที่สูงที่สุดของอาคารนี้ไม่อยู่ในระยะร่นห้ามก่อสร้างจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาเกิน 45 เมตร ทั้งนี้ ที่ดินแปลงนี้มีข้อจำกัดคือ ไม่มีทางให้รถสัญจรเข้าออก ซึ่งตามผลการศึกษาการก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดิน ยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร และที่ดินด้านที่ติดถนนสาธารณะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร จึงจะสามารถปลูกสร้างอาคารได้ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ดังนั้น ในการดำเนินจะต้องจัดให้มีทางเข้า - ออกโครงการถนนผิวจราจรไม่น้อยกว่า 12 เมตร
2) กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการโครงการนี้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด มีการผ่านพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้กระบวนการมีความชัดเจนและโปร่งใสเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งนี้ ก่อนการดำเนินการโครงการ มูลนิธิฯ จะต้องจัดเตรียมรายละเอียดของโครงการ โดยขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หากมีข้อขัดข้องก็ต้องปรับปรุงโครงการจนได้รับอนุญาตหรือหากไม่สามารถปรับปรุงได้ก็จะต้องพิจารณายกเลิกโครงการต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit