เผยผลงานวิจัยของไอเอฟเอส ด้านความแตกต่างทางดิจิทัลของอุตสาหกรรม พบอุตสาหกรรมการบินมีความก้าวหน้ามากที่สุด ขณะที่อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซอยู่อันดับรั้งท้าย

03 Jul 2017
บิ๊ก ดาต้า(ข้อมูลขนาดใหญ่) อีอาร์พี (การวางแผนทรัพยากรองค์กร) และ ไอโอที (อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์) เป็นส่วนที่มีการลงทุนสูงสุดเมื่อมีการนำแนวทางดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เข้ามาปรับใช้ แต่มีบริษัทจำนวน 1 ใน 3 ไม่พร้อม เนื่องจากขาดทักษะและความสามารถ
เผยผลงานวิจัยของไอเอฟเอส ด้านความแตกต่างทางดิจิทัลของอุตสาหกรรม พบอุตสาหกรรมการบินมีความก้าวหน้ามากที่สุด ขณะที่อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซอยู่อันดับรั้งท้าย

ไอเอฟเอส บริษัทผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นสำหรับองค์กรระดับโลก เปิดเผยผลสำรวจเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Change Survey) ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้มีอำนาจการตัดสินใจจำนวน 750 คนใน 16 ประเทศ เพื่อประเมินความพร้อมด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น (การแปรรูปองค์กรสู่ระบบดิจิทัล) ของอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิต น้ำมันและก๊าซ การบิน การก่อสร้างและรับเหมา และการบริการ เต็มใจลงทุนอย่างเต็มที่

บริษัทที่ร่วมทำแบบสำรวจเป็นจำนวนเกือบ 90% ระบุว่ามีเงินทุน 'เพียงพอ' หรือ 'เต็มที่' สำหรับดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการลงทุนอย่างมากและความต้องการที่จะพัฒนาองค์กรธุรกิจของตนให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อถามว่าการลงทุนในส่วนไหนที่ให้ความสำคัญสูงสุด คำตอบสามอันดับแรกก็คือ ไอโอที อีอาร์พี และข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์

"เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ปัจจุบันบริษัทต่างๆ มีความเข้าใจถึงความเร่งด่วนของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น" นายแอนโทนนี บอร์น รองประธานฝ่ายโซลูชั่นสำหรับอุตสาหกรรมทั่วโลก บริษัท ไอเอฟเอส กล่าว และว่า "เทคโนโลยี เช่น ข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ การวางแผนทรัพยากรองค์กร และอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการแปรรูปองค์กรธุรกิจ บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องปรับใช้เทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมภายใต้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้องค์กรก้าวสู่ความสำเร็จและได้เปรียบด้านการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและสามารถเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานให้กับองค์กรได้"

ด้านนายศรีดาราน อรูมูแกม รองประธาน ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท ไอเอฟเอส กล่าวว่า "ในเวลาที่การแข่งขันระดับโลกรุนแรงมากขึ้น ธุรกิจการผลิตของประเทศไทยจำเป็นต้องหาหนทางใหม่เพื่อแข่งขันทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก การลงทุนและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี อาทิ อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) จะทำให้เกิดโรงงานที่ชาญฉลาดในอนาคตเพื่อให้แน่ใจว่า บริษัท ต่างๆจะสามารถแข่งขันได้"

ขาดพนักงานที่มีทักษะและความสามารถ

เป็นที่น่าตกใจที่องค์กรจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 หรือ 34% รู้สึกว่ายังไม่มีความพร้อมใดๆ เลยหรือมีความพร้อมน้อยมากในการรับมือกับดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น สาเหตุหลักมาจากการขาดบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถในการดำเนินการ เมื่อถามถึงส่วนที่ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถมากที่สุด ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 40% ระบุว่าขาดแคลนในด้าน "บิซิเนส อินเทลลิเจ้นซ์" หรือ ระบบอัจฉริยะด้านธุรกิจ และ 39% ระบุว่าในด้าน "ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้" หรือความปลอดภัยทางไซเบอร์ สำหรับส่วนอื่นๆ ที่มีความกังวล ได้แก่ "เอไอ และโรบอติกส์" หรือ ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์จำนวน 30% "ข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์" จำนวน 24% และ "ระบบคลาวด์" จำนวน 21%

นายแอนโทนี บอร์น กล่าวเพิ่มเติมว่า "แม้ว่าเทคโนโลยีใหม่จะเป็นกุญแจสำคัญ ของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น แต่ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า รูปแบบการสื่อสารที่เปลี่ยนไปและการเข้าถึงบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถที่เหมาะสมเป็นตัวกระตุ้นที่ช่วยผลักดันให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น น่าแปลกใจที่การสำรวจพบว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจไม่มีพนักงานที่สามารถบริหารจัดการด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นอยู่เลย องค์กรเหล่านี้จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับแผนการลงทุนด้านบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาจะสามารถกำหนดบทบาทหน้าที่ที่จำเป็นต่อความสำเร็จในอุตสาหกรรมของตนได้อย่างเห็นผล หลังจากนั้นจะต้องเดินหน้าต่อด้วยการค้นหาและดึงดูดผู้ที่มีทักษะและความสามารถใหม่ๆ เข้ามาในองค์กร รวมทั้งจัดการฝึกอบรมและเสริมสร้างทักษะให้กับพนักงานที่มีอยู่ด้วย"

"การลงทุนด้านไอโอที ในเชิงอุตสาหกรรมให้ผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ที่ดีเยี่ยม จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดการนำแนวทางนี้เข้ามาปรับใช้ในองค์กร" นายราล์ฟ ริโอ รองประธานฝ่ายซอฟต์แวร์องค์กร บริษัท เออาร์ซี แอดไวเซอรี กรุ๊ป กล่าว และว่า "แต่ทักษะและความสามารถก็ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันเมื่อพิจารณาจากผลการสำรวจของไอเอฟเอส ดังนั้น ผู้ใช้ไอเอฟเอส จะต้องร่วมมือกับบริษัทต่างๆ อย่างเช่น ไอเอฟเอส ที่พร้อมนำเสนอโซลูชั่นไอโอทีชั้นนำได้อย่างสมบูรณ์"

ความแตกต่างที่สำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ

เมื่อถามถึงระดับความพร้อมในด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น กล่าวคือมีความคืบหน้าไปแล้วมากน้อยเพียงใด พบว่า 31% ของผู้ตอบแบบสำรวจให้คะแนนองค์กรของตนที่ระดับ 2 จากระดับ 5 โดยมีอุตสาหกรรมการบินที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดด้วยจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจ 44% ที่มองว่าองค์กรของตนมีความสามารถในด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นอย่างมาก ตามมาด้วยอุตสาหกรรมก่อสร้างและรับเหมาที่ 39% ระบุว่าพวกเขามีความพร้อมในการแปรรูป สำหรับอุตสาหกรรมรั้งท้าย ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ซึ่งมีเพียง 19% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่มองว่าองค์กรสามารถได้รับประโยชน์จากดิจิทัล ทรานส์ฟอเรชั่น

"ระดับความพร้อมที่แตกต่างกันในด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ของอุตสาหกรรมต่างๆ มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งมีอัตราการแข่งขันสูงในตลาด มีความพร้อมอย่างมากในการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาปรับใช้ในองค์กรอย่างรวดเร็ว เช่น การซ่อมบำรุงเชิงพยากรณ์และการสั่งพิมพ์แบบ 3ดี สำหรับการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยผลักดันให้การแปรรูปองค์กรสู่ระบบดิจิทัลประสบความสำเร็จ" นายแอนโทนี บอร์น กล่าว

แรงผลักดันและการโฟกัสด้านการลงทุน

จากการสำรวจพบว่า 43% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า "ความมีประสิทธิภาพของกระบวนการภายใน" เป็นแรงผลักดันสำคัญอันดับหนึ่งในด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น 29% ตอบว่า "การกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้เร็วขึ้น" และ 28% ตอบว่า "โอกาสเติบโตในตลาดใหม่" เป็นแรงผลักดันที่มีความสำคัญอันดับที่สองและสามตามลำดับ

อุปสรรคของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น

แม้ว่าจะมีความซับซ้อนทั้งในทางเทคนิคและทางปฏิบัติของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น แต่อุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงอันดับหนึ่งเกิดจากมนุษย์ นั่นคือ: "ความไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง" (42%) ขณะที่อุปสรรคสำคัญอันดับที่สองและสามคือ "ความกังวล/ภัยคุกคามด้านความปลอดภัย" (39%) และ "การไม่มีโมเดลกำกับดูแลและโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสม" (38%)

เทคโนโลยีใดที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด

เมื่อถามว่าเทคโนโลยีใดที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด บิ๊ก ดาต้า (ข้อมูลขนาดใหญ่) ครองอับดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 7.2 จากคะแนนเต็ม 10 อันดับสองคือ ออโต้เมชั่น(ระบบอัตโนมัติ) ด้วยคะแนน 7.0 ตามด้วย ไอโอที คะแนน 6.6 เป็นอันดับสาม แม้ว่าข้อมูลขนาดใหญ่จะครองอันดับสูงสุด แต่ก็ยังมีคนส่วนน้อย (ซึ่งมีนัยสำคัญ) รู้สึกว่าระบบอัตโนมัติสามารถสร้างผลกระทบได้มากที่สุด โดยมากกว่า 40% ให้คะแนนระดับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากระบบอัตโนมัติ 8 คะแนนหรือมากกว่าจากคะแนนเต็ม 10 ขณะที่ 32% ให้คะแนนข้อมูลขนาดใหญ่ในระดับที่สูงเทียบกัน ส่วนอุตสาหกรรมการก่อสร้าง (48%), การบิน (48%) และการผลิต (50%) ให้คะแนนการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากของระบบอัตโนมัติมากกว่า 8 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งทำให้ระบบอัตโนมัติกลายเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับคะแนนสูงสุดในอุตสาหกรรมเหล่านี้