ดร. ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยแถลงถึงประเด็นสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศว่า ปัจจุบันตลาดโลกมีความต้องการใช้ยางพารามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศไทยส่งออกยางพาราในรูปแบบของวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้หลายครั้งที่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจของโลกมีการปรับเปลี่ยนก็จะส่งผลต่อราคายางด้วย โดยเมื่อเปรียบเทียบราคาย้อนหลังกลับไปจะเห็นว่า แนวโน้มของยางพาราปรับตัวขึ้นลงตามวงจรของเศรษฐกิจ ซึ่งจริงๆ แล้วสถานการณ์ในห้วงระยะเวลานี้มีความใกล้เคียงกับในห้วงเวลาที่ผ่านมา และในช่วงนี้ก็มีลักษณะการเพิ่มขึ้นของราคายาง จะเห็นได้ว่าปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน จะกำหนดกรอบราคาในแต่ละปี ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันมาใช้ยางในประเทศให้มากขึ้นแทนการพึ่งพิงการส่งออก
ดร. ธีธัช สุขสะอาด เผยถึงสถานการณ์ด้านราคายางในช่วงนี้ว่า "สำหรับราคายางช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงเล็กน้อย ยางแผ่นดิบ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 50.97 บาท/กิโลกรัม ลดลง 1.16 บาท/กิโลกรัม ยางแผ่นรมควัน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 53.13 บาท/กิโลกรัม ลดลงเพียง 0.98 บาท/กิโลกรัม เป็นไปในทิศทางเดียวกับราคายางของประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่ง กยท. มองว่า ราคาได้ผ่านวิกฤตที่ลดลงอย่างรุนแรงแต่ละวันแล้ว แต่ราคายางที่ลดลงช่วงนี้ มีสาเหตุจากสต๊อกยางของจีนที่ยังคงเพิ่มขึ้นเท่านั้น ส่วนปัจจัยพื้นฐานอื่นยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนราคายางทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ประกอบกับการขยายตัวในภาคการส่งออก หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ย ที่ 1.5% อีกทั้งราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ลดลง และปัจจัยด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ทั้งจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ยังคงมีการขยายตัว ในภาคการผลิตจากดัชนี PMI (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ) ของเดือนมิถุนายน ยังคงเพิ่มขึ้น และยังอยู่สูงกว่าระดับ 50 สอดรับกับรายงานยอดขายรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่น ที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.4 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี รวมไปถึงปัจจัยสนับสนุนด้านสภาพอากาศ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศในช่วงนี้ มีปริมาณฝนร้อยละ 40 –60 ในภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ส่วนพื้นที่ปลูกยางอื่น มีปริมาณฝนร้อยละ 60 – 70 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อยลง
"คาดว่า สถานการณ์ราคายางจะขยับตัวขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 3 ประเทศผู้ผลิตยางของโลก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในประชุมหารือร่วมกันในเวทีสภาไตรภาคียางพารา (International Tripartite Rubber Council – ITRC) ครั้งที่ 28 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามที่ประเทศไทยเสนอในการนำมาตรการจำกัดการส่งออกมาใช้อีกครั้ง เพื่อเป็นแนวทางแก้ปัญหาราคายางผันผวนในระยะสั้น พร้อมทั้ง จะเร่งดำเนินการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีของ 3 ประเทศ ให้เร็วขึ้น จากเดิมกำหนดในช่วงเดือนธันวาคมเป็นเดือนกันยายนนี้เพื่อประชุมหารือแนวทางและมาตรการแก้ปัญหายางพารา นับว่า เป็นปัจจัยบวกในเชิงจิตวิทยาที่จะกระตุ้นให้สถานการณ์ราคายางมีทิศทางดีขึ้น" ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติม
ดร.ธีธัช กล่าวถึงมาตรการการและแนวทางแก้ปัญหายางพารา ว่า คณะรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติโครงการเพื่อช่วยเหลือทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงผู้ประกอบกิจการยาง ทั้งการอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพารา การดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลสนับสนุนการชดเชยดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี จำนวนไม่เกิน 300 ล้านบาท และการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มเติม ในโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง อีกจำนวน 11,460ครัวเรือน ในขณะเดียวกัน กยท. มีกองทุนพัฒนายางพารา ซึ่งเป็นเงินเพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนผู้มีส่วนได้เสียยางพาราทั้งระบบ ไม่เพียงเกษตรกรชาวสวนยางเท่านั้น เพราะการพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ให้เกิดความมั่นคงได้อย่างยั่งยืนจะต้องพัฒนาทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การแปรรูปอุตสาหกรรม จนถึงการตลาด โดยการจัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) ประมาณ 2.5 พันล้านบาท ให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. ทั้งนี้ หากเป็นชาวสวนยางรายย่อย สามารถใช้บุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ สำหรับสถาบันเกษตรกร ต้องมีทุนเรือนหุ้นไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท หากสถาบันใดได้รับการผ่อนผัน ขยายเวลาชำระหนี้ ลดหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ฯลฯ ถือว่า มีคุณสมบัติที่จะกู้ยืมได้ และสำหรับผู้ประกอบกิจการยาง จะต้องไม่มีหนี้ผิดค้างชำระต่อสถาบันการเงินหรือ กยท. เช่นกัน
นอกจากนี้ กยท. ยังมีการผลักดันหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินจัดเก็บค่าธรรมเนียมมาเป็นค่าบริหารกองทุนพัฒนายางพาราด้านต่างๆ โดยตัวแทนเกษตรกร สถาบันเกษตรกรได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ด้านสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งใช้จ่ายเงิน ร้อยละ 7 ของเงินกองทุน ขณะนี้ เกษตรกรสามารถใช้สิทธิ์ตามสวัสดิการ ซึ่ง กยท.ได้จ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้ว กรณีสวนยางประสบภัยธรรมชาติ ในพื้นที่ภาคใต้เมื่อปลายปี 2559 ประมาณ 4,000 ครัวเรือน กรณีเกษตรกรเสียชีวิต ทายาทจะได้รับการช่วยเหลือรายละ 3,000 บาท รวมถึงเงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชาวสวนยาง เป็นต้น สำหรับเงินกองทุนพัฒนายางพารา ร้อยละ 35ใช้ในการช่วยส่งเสริม เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ซึ่งขณะนี้ กยท. ได้สนับสนุนเงินทุนประมาณ 2,500ล้านบาท ในการแปรรูป พัฒนาปรับปรุงคุณภาพต่างๆ รวมทั้ง การส่งเสริมและพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางโดยเฉพาะ อีกร้อยละ 3 ของเงินกองทุนในการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพ
"สำหรับกระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการขับเคลื่อนสร้างเสถียรภาพราคายาง โดยมอบให้ กยท. เร่งเตรียมจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยมีผู้ประกอบกิจการส่งออกยางรายใหญ่ของประเทศ ทั้ง 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ กยท. ลงทุนร่วมกัน องค์กรละ 200 ล้านบาท เข้าซื้อยางในตลาด ซึ่งส่งผลดีต่อราคายาง และเป็นการปฏิบัติที่ชัดเจนภายใต้การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน จะสามารถรักษาระดับราคา ผลักดันราคาให้อยู่ในระดับสมดุลอีกครั้ง ถือเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการ โดยจะมีเงินทุนเริ่มต้นร่วมกัน 1,200 ล้านบาท ในการใช้ซื้อยางทั้งในตลาดซื้อขายจริงและตลาดซื้อขายล่วงหน้า ในหลักการแล้วหากใช้ในตลาดล่วงหน้า สามารถขยายผลได้ถึง 10 เท่า จากเงิน 1,200 ล้านบาท จะขยายผลได้ถึง 12,000 ล้านบาท และซื้อยางได้ประมาณ 200,000 ตัน ถือเป็นมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผลักดันให้เป็นรูปธรรมได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ราคายางกลับสู่ดุลยภาพได้เร็วขึ้น" ผู้ว่าการ กยท. กล่าว
ดร.ธีธัช สุขสะอาด กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ วันนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาสถานการณ์ราคายาง ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวจะสำเร็จได้นั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรสามารถเข้ามามีส่วนช่วยได้หลายวิธี ทั้งการเลือกปลูกยางพาราในพื้นที่ๆ เหมาะสม และที่สำคัญไม่บุกรุกป่า ลดต้นทุนการผลิตให้ได้ โดยปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นการปลูกพืชหลายๆ ชนิด ซึ่ง กยท. ให้การส่งเสริมทั้งทุนในการปลูกแบบผสมผสาน เป็นการปลูกพืชท้องถิ่นร่วมในสวนยาง หรือการเลี้ยงสัตว์ก็ดี สามารถเพิ่มรายรับให้กับครอบครัวในช่วงที่ราคายางผันผวนด้วย ทั้งนี้ แนวทางในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต นั้น กยท.มีคำแนะนำการปลูกยาง การบำรุงรักษาจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ถูกต้อง เพื่อให้ผลผลิตของยางไทยมีคุณภาพ ซึ่งสิ่งนี้คือความแตกต่างด้านวัตถุดิบของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่ปลูกยาง ช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงต่างๆ ตลอดจนสื่อมวลชน มีการเผยแพร่องค์ความรู้ทั้งจากประสบการณ์ของปราชญ์ชาวบ้าน ครูยาง อยากให้ทุกคนเปิดโอกาสให้กับตัวเองในการรับข้อมูลที่ถูกต้องนำไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของอาชีพตัวทุกท่านเอง
นอกจากนี้ อีกหนึ่งมาตรการที่สำคัญ คือ การส่งเสริมใช้ยางในประเทศ ซึ่งภาครัฐมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมและผลักดันมาตรการ แนวทางต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกัน เกษตรกรชาวสวนยาง และประชาชนคนไทยทุกคน สามารถร่วมกันรณรงค์ ในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมยางพาราด้วยการใช้ยางให้เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากยางพารา เช่น ของเล่นเด็ก หมอน กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง รถยนต์ และรถทุกประเภท เป็นต้น ไม่เพียงแต่ชีวิตประจำวันของเราทุกคนเท่านั้น ยางพารายังมีประโยชน์ด้านยุทโธปกรณ์ฝึกซ้อมทางทหาร ด้านคมนาคม ด้านการแพทย์ อีกนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น หากทุกคนร่วมกันส่งเสริมและหันมาใช้ยางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตที่ขายเฉพาะวัตถุดิบให้ประเทศอื่นๆ นำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าเพียงอย่างเดียว แต่เราจะให้ความสำคัญด้านการตลาดมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากเดิมที่มีขายผลผลิตอย่างเดียวรายได้ปีละ 2 แสนล้านบาท สามารถเพิ่มรายได้ให้กับประเทศอีกประมาณ 5-6 เท่า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศโดยรวมได้
"การร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งรัฐบาล และ กยท. กระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรเป็นอย่างดี และเร่งทำงานเพื่อแก้ไขมาโดยตลอด ขอขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะต่างๆ ทั้งจากตัวแทนเกษตรกรบางกลุ่ม หรือจากอดีตนักการเมืองหลายท่าน กระทรวงเกษตรเกษตรและสหกรณ์และ กยท. พร้อมรับฟังและนำไปปรับใช้ร่วมกับมาตรการอื่นๆ ตามความเหมาะสม และฝากถึงทุกกลุ่มที่ต้องการนำเสนอแนวทาง ท่านสามารถส่งข้อเสนอแนะของท่านผ่านช่องทางต่างๆ หรือสำนักงานสาขาของ กยท. ทั่วประเทศใกล้บ้านท่าน การรวมตัวกันเพื่อกดดันรัฐบาลด้วยการประท้วงหรือการเดินขบวนอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง และการแก้ไขปัญหาทำให้ยากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อราคายาง ขณะนี้ขอให้รัฐบาลและ กยท. ได้ใช้เวลาและวิธีการต่างๆที่ได้เตรียมไว้เพื่อการแก้ไขปัญหาราคายางที่ผันผวน ซึ่งเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องใช้มาตรการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจจึงจะแก้ไขได้ การสร้างข่าวในทางลบ การสร้างความขัดแย้งหรือการรวมกลุ่มกดดัน มิใช่วิธีการแก้ไขปัญหาในเวลานี้ รัฐบาลและ กยท. มีความจริงใจในการแก้ปัญหาและทำอย่างจริงจังมาโดยตลอด ขอให้พี่น้องเกษตรกรเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ราคายางในปัจจุบันเป็นเพียงการปรับตัวในระยะสั้น และจะกลับสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็วอีกครั้งอย่างแน่นอน" ดร. ธีธัช กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit