ปภ.แนะปรับปรุง และแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติภัยในโรงเรียน...เพิ่มความปลอดภัยแก่นักเรียน

14 Jul 2017
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะการปรับปรุง และแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติภัย ในโรงเรียน ดังนี้ อาคารเรียน ตรวจสอบราวบันไดให้มั่นคงแข็งแรง สนามเด็กเล่นต้องเป็นพื้นเรียบ เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน หมั่นตรวจสอบโต๊ะ – เก้าอี้ให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ จัดทำรั้วล้อมรอบสระน้ำ และบ่อน้ำ จัดให้มีฝา หรือตะแกรงครอบท่อน้ำ และรางน้ำทิ้งทุกจุด ตรวจสอบประตู และกำแพงโรงเรียนให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี ไม่ชำรุด รวมถึงจัดให้มีครูดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของเด็ก จัดแบ่งพื้นที่สนามกีฬาให้เป็นสัดส่วน พร้อมตรวจสอบเครื่องเล่น และอุปกรณ์กีฬาอยู่ในสภาพปลอดภัย ติดตั้งสายดิน เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว พร้อมหมั่นตรวจสอบตู้น้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานอย่างปลอดภัย

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ช่วงเปิดภาคเรียน ส่วนใหญ่เด็กใช้เวลาประกอบกิจกรรมในโรงเรียน แต่ด้วยความซุกซน ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก อีกทั้งสภาพแวดล้อมโรงเรียน ที่ไม่ปลอดภัย ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะการปรับปรุง และแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติภัยในโรงเรียน ดังนี้ อาคารเรียน ตรวจสอบราวบันได ให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง ไม่ปูพื้นด้วยกระเบื้องที่มีลักษณะมันวาว ไม่วางสิ่งของกีดขวางทางเดิน ไม่วางสิ่งของที่มีน้ำหนักมากบนที่สูงหรือหลังตู้ พร้อมจัดทำลูกกรงเหล็กปิดกั้นระเบียง ประตู และหน้าต่าง สนามเด็กเล่น ต้องเป็นพื้นเรียบ ปูด้วยทราย หรือยางสังเคราะห์ จะช่วยรองรับแรงกระแทกเมื่อเด็กพลัดตกจากเครื่องเล่น ยึดติดเครื่องเล่นที่ล้มได้กับพื้นอย่างหนาแน่น พร้อมตรวจสอบเครื่องเล่นให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หากชำรุดให้ดำเนินการซ่อมแซมทันที เครื่องใช้ไฟฟ้า เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน พร้อมหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน อีกทั้งติดตั้งสายดินหรือเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ รวมถึงติดตั้งปลั๊กไฟให้อยู่ในระดับที่พ้นจากมือเด็ก หรือใช้ที่ครอบปลั๊กไฟ โต๊ะ – เก้าอี้ หมั่นตรวจสอบให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ไม่โยกเยก และไม่มีตะปูยื่นออกมา สระน้ำ – บ่อน้ำ จัดทำรั้วล้อมรอบแหล่งน้ำ และติดตั้งป้ายเตือนอันตรายบริเวณริมน้ำ พร้อมจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำไว้บริเวณใกล้ๆ แหล่งน้ำ ท่อน้ำ – รางน้ำทิ้ง จัดให้มีฝาหรือตะแกรงครอบ พร้อมตรวจสอบ ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี หากชำรุดให้ดำเนินการซ่อมแซม ประตู กำแพงโรงเรียนตรวจสอบราง และล้อเลื่อนให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี ไม่ชำรุด รวมทั้งติดตั้งเสาครอบประตู และกำแพงให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ไม่ผุกร่อน ถนนหน้าโรงเรียน จัดให้มีครูดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของเด็ก พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียน สนามกีฬา จัดแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน แยกตามประเภทของกีฬา พร้อมตรวจสอบพื้นสนามไม่ให้เป็นหลุมบ่อ ไม่มีเศษวัสดุ ของมีคม และไม่มีหญ้าขึ้นรก รวมถึงเครื่องเล่น และอุปกรณ์กีฬาอยู่ในสภาพปลอดภัย ตู้น้ำดื่ม ติดตั้งสายดินป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว พร้อมหมั่นตรวจสอบตู้น้ำดื่มให้อยู่ในสภาพปลอดภัย รวมถึงให้เด็กใช้แก้วรองน้ำจากก๊อกตู้น้ำดื่ม เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่ว จะช่วยป้องกันไฟฟ้าดูด ทั้งนี้ การหมั่นตรวจสอบ และซ่อมแซมอุปกรณ์ และสถานที่ต่างๆ ภายในโรงเรียนให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง และพร้อมใช้งานอยู่เสมอ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับเด็กนักเรียน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยในโรงเรียน