นิทัศน์ แก้วศรี ผู้รับผิดชอบโครงการเล่าว่า ในอดีตทะเลสาบแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำและสัตว์ที่อาศัยป่าชายเลน มากกว่า 700 กว่าสายพันธุ์ แต่ต่อมาทะเลสาบสงขลาเกิดการตื้นเขิน มีการปล่อยน้ำเสียงลงทะเลสาบ การบุกรุกป่าชายเลน รวมทั้งการทำประมงแบบผิดกฎหมาย ทำให้ปลาเศรษฐกิจที่ชาวประมงเคยจับได้หายไป จึงหาทางฟื้นฟูทะเลสาบบริเวณบ้านคูขุด เพื่อนำความสมบูรณ์กลับคืนมา
"เริ่มแรกก็คือซื้อพันธุ์สัตว์น้ำมาปล่อย แล้วก็หาไม้ไปปักเป็นแนวเพื่อไม่ให้เรือเข้าไปรบกวน หลังจากนั้นได้เสนอไปทางจังหวัด โดยประมงจังหวัดสงขลา ได้เข้ามาร่วมจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำบ้านคูขุด กินเนื้อที่ประมาณ 933 ไร่ ปล่อยลูกกุ้ง ลูกปลา พร้อมกับการตั้ง ชมรมประมงอาสา เพื่อดูแลพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำไม่ให้เรือเข้าไปรบกวน หรือลักลอบทำการประมง มีการการจัดทำธนาคารกุ้งไข่ ขอกุ้งไข่จากชาวประมงรายละ 3 ตัว สร้างกติกาชุมชน กำหนดขนาดตาอวน 5 เซนติเมตรขึ้นไป ทำแผนร่วมกับประมงจังหวัดเพื่อปล่อยสัตว์น้ำทุกปี สร้างเครือข่ายช่วยกันไปขุดลอกทะเลสาบ ปลูกป่าโกงกาง เชิญชวนชาวบ้าน เยาวชน นักเรียน เข้าร่วมกิจกรรม ช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อม ผลที่ได้ทำให้วันนี้สินค้าและแพปลาของชุมชนได้รับการรับรองมาตรฐานให้เป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์จากมูลนิธิสายใยแผ่นดินและสหภาพยุโรปซึ่งมีมาตรฐานสูงมาก ทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าสู่กลุ่มผู้บริโภคได้แน่นอนในราคาที่น่าพอใจ"
วันนี้สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในพื้นที่ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันชุมชนยังดำเนินกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์หลายๆด้าน ทั้งการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ การปลูกป่าชายเลนให้เป็นที่อาศัยของสัตว์ การดูแลเรื่องขยะ น้ำเสีย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านในด้านการแหล่งอาหาร เพราะทะเลสาบสงขลาเป็นที่มั่นสุดท้ายของชุมชน ที่ทุกคนต้องร่วมกันดูแลรักษาเพื่อการสร้างงานสร้างอาชีพให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit