รศ.ดร. สุเจตน์ จันทรังษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หรือ เอ็มยูที (MUT) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 27 ปีที่ผ่านมา MUT มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการเรียน การสอน และการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้มาตรฐานของ MUT นั้นเทียบชั้นแนวหน้าของมหาวิทยาลัยของเมืองไทย ดังเห็นได้จาก การประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษา องค์การมหาชน หรือ สมศ. จัดให้ MUT มีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องงานวิจัยและการผลิตบัณฑิต มีผลประเมินอยู่ในระดับดีมาก 4.86 จากคะแนนเต็ม 5 รวมทั้ง นักศึกษาที่จบการศึกษามากถึงร้อยละ 95 ได้งานทำทันทีภายใน 4 เดือน และเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ผลิตวิศวกรคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานมากที่สุด คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 15 โดยกลุ่มผู้ประกอบการต่างชื่นชมว่าเป็น วิศวกรที่สามารถทำงานได้จริง มีความขยันและอดทน
การจัดงาน "กล้าพัฒน์" ถือเป็นการพัฒนาระบบการศึกษาอีกขั้นของไทย สอดคล้องกับแนวทางการศึกษามหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอังกฤษ ที่ต้องการพัฒนาให้นักศึกษาสามารถคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ และสามารถทำงานร่วมกับองค์กรระดับนานาชาติได้ โดยวัตถุประสงค์การจัดงานนี้ เพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี ความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม การสื่อสารและประสานงานร่วมกับผู้อื่น โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่กำลังขึ้นปีที่ 2 ได้แสดงผลงาน ไอเดียสร้างสรรค์ ผสมผสานงานวิจัย การพัฒนา เทคโนโลยีและดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของประเทศ
ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม รองอธิการบดี ฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หรือ เอ็มยูที (MUT) กล่าวเสริมถึงผลจากการประชุมเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum พบว่า ภายในปี พ.ศ. 2563 ทักษะที่จำเป็นในการทำงาน 5 ประการแรก ได้แก่ การแก้ปัญหาการคิดเชิงวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการประสานงานกับผู้อื่น ดังนั้น การพัฒนาองค์ความรู้แต่เพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอต่อการสร้าง "วิศวกรนักคิด" ที่มีคุณภาพ สถาบันการศึกษาในฐานะที่มีบทบาทสำคัญต่อการบ่มเพาะและพัฒนาบุคลากร นักประดิษฐ์ และผู้ประกอบการยุค Startup นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุค 4.0
ทั้งนี้ ผลงานที่ได้รับรางวัลสุดยอดแนวคิดนวัตกรรมแห่งอนาคต "กล้าพัฒน์" ประจำปี 2560 ได้แก่ แนวคิดผลงาน SMART WHEELCHAIR หรือ เก้าอี้ผู้สูงอายุ ของทีมเก้าอี้สีเขียวนั่งคนเดียวไม่แบ่งใคร โดยนายดุษฎี บุญโต นักศึกษาสาขาเครื่องกล เล่าถึงผลงานว่า "ได้รับแรงบันดาลใจจากคุณยายอายุ 95 ปี ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ จึงอยากพัฒนาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สามารถใช้เหลือและดูแลท่านได้ ทั้งระบบช่วยเตือนความจำ ระบบปรับที่นั่งอัตโนมัติลดอาการแผลกดทับ หรือการสื่อสารแบบสั่งงานด้วยเสียง โดยเก้าอี้ผู้สูงายุ มีแนวคิดหลักในการทำงานโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์สมองกล ระบบกำหนดตำแหน่งหรือ GPS รวมทั้งการพัฒนาระบบพลังงานแบบไร้สาย ด้วยการดึงสัญญานไร้สายจากอากาศ ทั้งคลื่นแม่เหล็ก คลื่นสัญญานโทรทัศน์ มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อใช้ควบคุมและเป็นพลังงานให้แก่เก้าอี้ผู้สูงอายุนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
"สำหรับผลงานในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของนักศึกษาวิศวกรรมรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นแรงสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในยุค 4.0 และเป็นการตอกย้ำถึงแนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรม จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่เป็นต้นกล้าและต่อยอดด้วยทักษะที่จำเป็นในการทำงานและดำรงชีวิตจริง เสริมด้วยความรู้ ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญตรงในแต่ละสาขา หากแต่ละสถาบันการศึกษาสามารถทำได้เช่นนี้ เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยในยุค 4.0 จะเติบโตและก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน" รองอธิการบดี กล่าวสรุป
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร โทรศัพท์ 02-988-4021-4 เว็บไซต์ www.mut.ac.th.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit