เข็มขัดนิรภัย
บุคคลทั่วไป
คาดเข็มขัดนิรภัยแบบชิดลำตัว โดยส่วนล่างทาบกับกระดูกเชิงกราน ส่วนบนพาดทแยงผ่านกระดูกไหปลาร้า
ปรับระดับความตึงให้กระชับ สายไม่พลิกและงอ เพื่อให้เข็มขัดนิรภัยทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยพาดชิดลำคอ และใต้วงแขน เพราะเข็มขัดนิรภัยจะไม่สามารถเหนี่ยวรั้งลำตัวผู้ประสบอุบัติเหตุ ทำให้ได้รับอันตรายเพิ่มมากขึ้น
สตรีมีครรภ์
- คาดเข็มขัดนิรภัยพาดผ่านร่องอกลงมาด้านข้างของช่องท้อง ไม่คาดทับบริเวณหน้าท้องโดยตรง โดยให้ สายเข็มขัดนิรภัยอยู่เหนือต้นขา
- ใช้หมอนใบเล็กหรือผ้าขนหนูรองบริเวณหน้าท้องส่วนล่าง จะช่วยลดแรงกดทับและการเสียดสีของเข็มขัด ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กในครรภ์
- ปรับเบาะนั่งให้ห่างจากพวงมาลัยประมาณ 10 นิ้ว เมื่อประสบอุบัติเหตุจะช่วยลดการบาดเจ็บจากการกระตุกของเข็มขัดนิรภัย
ข้อควรระวัง
- ไม่ควรให้เด็กเล็กคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะสายเข็มขัดนิรภัยอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม เมื่อประสบอุบัติเหตุ จะเกิดแรงกระแทกและกระตุกอย่างแรง ส่งผลให้เด็กได้รับบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้นหรือเสียชีวิตได้
- เด็กสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้อย่างปลอดภัย เมื่อมีอายุ 9 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักมากกว่า 30 กิโลกรัม หรือความสูงตั้งแต่ 140 เซนติเมตร เนื่องจากเด็กสามารถนั่งตัวตรง ห้อยขากับเบาะรถ และหลังพิงพนักได้ถนัด
หมวกนิรภัย
การเลือกใช้หมวกนิรภัย
- ใช้หมวกนิรภัยแบบเต็มใบที่มีขนาดพอดีกับศีรษะ
- มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
- ชั้นรองด้านในมีความหนาประมาณ 1.5 – 3 เซนติเมตร
- มีแผ่นกระบังลมปกป้องใบหน้า
- มีระบบเหนี่ยวรั้งหรือสายรัดคาง
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้หมวกนิรภัย
- สวมหมวกในลักษณะตรง ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง คาดสายรัดคาง และปรับความตึงให้กระชับ เพื่อป้องกันหมวกนิรภัยหลุดจากศีรษะเมื่อประสบอุบัติเหตุ
- เปลี่ยนหมวกนิรภัยทุกๆ 3 – 5 ปี หรือภายหลังที่หมวกนิรภัยกระแทกพื้นอย่างรุนแรง เพราะวัสดุ จะเสื่อมสภาพและไม่สามารถรองรับแรงกระแทกได้
- ไม่เก็บหมวกนิรภัยไว้ในบริเวณที่มีอากาศร้อน เพราะพลาสติกและโฟมในหมวกนิรภัยจะหมดอายุการใช้งาน จึงไม่สามารถรองรับแรงกระแทกได้
การคาดเข็มขัดนิรภัยและสวมหมวกนิรภัยอย่างถูกวิธี จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง