เพื่อกระตุ้นเตือนให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพหัวใจก่อนสายเกินแก้ โรงพยาบาลราชวิถี ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ "รพ.ราชวิถี ปันหัวใจ...ให้ชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจ" เนื่องในวันหัวใจโลก 2017" โดยมี นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี เป็นประธานเปิดงาน ภายในงานมีนิทรรศการ พร้อมการเสวนา โดย นพ.ธนรัตน์ ชุนงาม อายุรแพทย์โรคหัวใจ
นพ.สุธรรม สุธีรภัทรานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ และนพ.ศุภกร ศรีหัตถผดุงกิจ ศัลยแพทย์โรคหัวใจ และการแบ่งปันประสบการณ์การรอดชีวิตจากผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ พร้อมบริการตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดให้แก่ผู้ร่วมงาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อาทิ วัดความดันโลหิตประเมินความเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน บริการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และตรวจดูความยืดหยุ่นหลอดเลือดส่วนปลาย(ABI) ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ (หน้าห้องตรวจอายุรกรรม เฉพาะโรค) ชั้น 1 ตึกอายุรกรรม รพ.ราชวิถี
นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรคหัวใจถือเป็นโรคร้ายแรงที่สามารถคร่าชีวิตผู้ป่วยได้ทุกเมื่อ และเป็นปัญหาสุขภาพใกล้ตัวที่มีโอกาสเกิดได้กับทุกคน โดยโรคหัวใจแบ่งอออกเป็น 3 กลุ่มหลักคือ 1. ความผิดปกติด้านโครงสร้างหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะลิ้นหัวใจรั่ว 2. ความผิดปกติของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น โรคในกลุ่มหัวใจขาดเลือด หรือโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งพบได้บ่อยในคนไทย เกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม สูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย สามารถป้องกันได้ 3.ความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ ทำให้เกิดหัวใจเต้นเร็วไป ช้าไป หรือเต้นไม่ตรงจังหวะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจชนิดไหนก็เป็นปัญหาที่ทุกคนควรตระหนัก เนื่องจากมีอันตรายถึงชีวิต ควรป้องกันโดยการออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจหาภาวะความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ เพื่อจะได้รักษาได้ทันเวลาและเพิ่มโอกาสในการรักษา
"ที่น่าเป็นห่วงมากคือ ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทั้งที่โรคหัวใจและหลอดเลือดที่พบบ่อยในคนไทยนั้นสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการป้องกัน โดยในแต่ละปีสถาบันหัวใจ รพ.ราชวิถี รองรับผู้ป่วยโรคหัวใจมากกว่า 23,000 ราย หรือเฉลี่ยมากถึง 90 รายต่อวัน ซึ่งสถาบันหัวใจ รพ.ราชวิถีเปิดดำเนินการรักษามาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2518 โดยมีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมาแล้ว 67 ราย ส่วนการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ หัวใจอื่นๆ หลอดเลือดและปอด เฉลี่ยปีละ 600-700 ราย และเป็นศูนย์แพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจครบวงจร มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อีกทั้งยังเป็นสถาบันหัวใจแห่งแรกที่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและปอดพร้อมกันที่เรียกว่า Domino Heart Transplantation ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและทวีปเอเชีย รวมถึงมีการรักษาผู้ป่วยกรณีต่างๆมาแล้วมากมาย พร้อมทั้งยังเป็นสถาบันที่ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสอีกจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจที่เก่าแก่ที่สุดของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อบรมสร้างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจที่ไปช่วยดูแลสุขภาพประชาชนทั่วประเทศอีกด้วย ทั้งนี้โรงพยาบาลราชวิถียังมีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ยากไร้ด้อยโอกาสเป็นจำนวนมากจากการส่งต่อมาจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศที่ยังรอรับความช่วยเหลือ จึงเชิญท่านผู้มีจิตกุศลร่วมแบ่งปันน้ำใจช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจผู้ด้อยโอกาสอยู่ผ่านมูลนิธิรพ.ราชวิถี ท่านที่สนใจร่วมบริจาคได้ที่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา รพ.ราชวิถี ประเภทบัญชี ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 051-2-16322-1 หรือ สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 02–3548138 ต่อ 3217-9" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวและเสริม
นายแพทย์ศุภกร ศรีหัตถผดุงกิจ ศัลยแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า สถาบันหัวใจ โรงพยาบาลราชวิถี ให้การรักษาครบวงจรทั้ง 3 ส่วนหลัก คือ การรักษาด้วยยา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการรักษาด้วยหัตถการเฉพาะ ได้แก่
1. ภาวะหัวใจขาดเลือดรักษาด้วยการทำบอลลูน และใส่ขดลวด เพื่อค้ำยันผนังเลือดหัวใจ หรือส่งผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ
2. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โดยทั่วไปการรักษาหลักทำได้โดยการผ่าตัด แต่ในบางกรณี เช่น โรคผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว หรือภาวะหลอดเลือดเชื่อมต่อกันผิดปกติชนิด PDA เราสามารถให้การรักษาด้วยการใส่อุปกรณ์ผ่านหลอดเลือดเข้าไปปิดรูรั่วได้ โดยผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัด
3. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้า รักษาโดยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
4. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว รักษาโดยการใส่เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจ
5. ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง รักษาโดยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดพิเศษ
นายแพทย์ธนรัตน์ ชุนงาม อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า ปัญหาโรคหัวใจที่พบได้บ่อยในคนไทย คือ ภาวะหัวใจขาดเลือด ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือเรียกว่า โรคน้ำท่วมปอด เป็นภาวะที่เกิดจากการบีบตัว หรือการคลายตัวของหัวใจผิดปกติ หรือเกิดจากลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ ที่พบบ่อยในคนไทยคือ โรคลิ้นหัวใจรูห์มาติก ทำให้เกิดลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วได้ เลือดไหลเวียนไม่สะดวกหรือไหลสวนทางได้ ทำให้เกิดน้ำท่วมปอดตามมา ส่วนภาวะหัวใจบีบตัวไม่ดีมีปัจจัยหลายสาเหตุ คือ ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรือเกิดการติดเชื้อ รวมทั้งยาบางชนิดก็สามารถลดการทำงานของหัวใจได้
ทั้งนี้ โรคหัวใจเป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้ การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจนั้น ทำได้ง่ายๆเพียงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ คือ
1.ดูแลสุขภาพจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ ลดเครียดกับการงาน หรือการเรียนจนมากเกินไป รู้จักควบคุม อารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์โกรธ เพราะความเครียดและความโกรธ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น
2.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจสมบูรณ์แข็งแรงแล้ว สุขภาพจิต ก็ยังสดชื่อแจ่มใสแล้วอีกด้วย
3.หมั่นสังเกตความผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น ดูว่าอัตราการเต้นของหัวใจปกติ ดีหรือไม่ เจ็บหน้าอกหรือไม่ ใจสั่นบ่อยๆ หรือไม่ เหนื่อยง่ายกว่าแต่ ก่อนหรือไม่ หรือหายใจติดขัด เป็นต้น
4.รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยงดอาหารที่มีไขมันสูง แต่หันไปกินผักผลไม้ให้มากขึ้น ข้อ สำคัญควรงดการสูบบุหรี่และดื่มสุรา
5. ควรไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันและรักษาโรคร้ายตั้งแต่เนิ่นๆ
แต่ทั้งนี้เมื่อเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ถ้าตรวจพบและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และทันเวลาแล้วก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคประจำตัว หรืออาการแทรกซ้อนต่างๆ
หลังการรักษาโรคหัวใจแล้วการดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งการดูแลตัวเองหลังการรักษาทำได้หลายวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการดำเนินชีวิต สำหรับการออกกำลังกายซึ่งในผู้ป่วยโรคหัวใจจะส่งผลดีต่อสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วย เนื่องจากร่างกายมีการปรับตัวในการนำออกซิเจนไปใช้ได้ดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีสมรรถภาพร่างกายที่ดี ช่วยลดอาการต่างๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงช่วยป้องกันและควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด เพิ่มความสามารถการละลายลิ่มเลือด และปรับปรุงการทำงานของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด ทำให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น อีกทั้งยังทำให้มีสภาพจิตใจและคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนต่างๆ